วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พระราชดำรัสคุณธรรม 4 ประการ


พระราชดำรัสคุณธรรม 4 ประการ

พระราชดำรัส "...คุณธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความรักความสามัคคีที่ทำให้คนไทยเราสามารถ
ร่วมมือร่วมใจกันรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมาได้ตลอดรอดฝั่ง
ประการแรก คือ การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตามุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน
ประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันประสานงาน ประสานประโยชน์
กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่นและแก่ประเทศชาติ
ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกาและใน
ระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมเสมอกัน
ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายาม ทำความคิดความเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรง
และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล
หากความคิดจิตใจและการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดีที่เจริญนี้ยังมีพร้อมมูล
อยู่ในกาย ในใจคนไทย ก็มั่นใจได้ว่าประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้....”
พระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันศุกร์ที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙

“อนาคตของชาติทุกชาติย่อมขึ้นอยู่แก่เด็ก เพราะเด็กก็คือผู้ใหญ่ในเวลาข้างหน้า ถ้าบุคคลได้รับการอบรมบ่มนิสัย ให้เป็นพลเมืองดีอยู่ในศีลธรรม เคารพต่อบทกฎหมายของบ้านเมืองเสียตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อเติบใหญ่ขึ้น พลเมืองของประเทศก็จะมีแต่คนดี และประเทศจะเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ ก็โดยต้องมีพลเมืองดีดั่งว่านี้”
พระราชดำรัส ในพิธีเปิดศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง
วันที่ 28 มกราคม 2495
“เยาวชนทุกคนมิได้ต้องการทำตัวให้ตกต่ำ หรือให้เป็นปัญหาแก่สังคมประการใด แท้จริงต้องการจะเป็นคนดีมีความสำเร็จ มีฐานะ มีเกียรติ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างราบรื่น แต่การที่จะบรรลุถึงความประสงค์นั้น จำเป็นต้องอาศัยผู้แนะนำ ควบคุมให้ดำเนินไปโดยถูกต้อง”
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา
ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร 28 พฤศจิกายน 2515
“เด็กเป็นผู้ที่ได้รับช่วงทุกสิ่งทุกอย่างต่อจากผู้ใหญ่ ดังนั้นเด็กทุกคนทุกคนจึงสมควรและจำเป็นที่จะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง เหมาะสม ให้มีศรัทธามั่นคงในคุณงามความดี มีความประพฤติเรียบร้อย สุจริต และมีปัญญาฉลาดแจ่มใสในเหตุผล”
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครูและอาจารย์ 27 ตุลาคม 2516
“ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็กๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่นคง”
พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก วันที่ 18 พฤศจิกายน 2530
“ความรู้ประโยชน์แท้จริงของสิ่งทั้งหลายเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องปลูกฝังให้หยั่งลึกในตัวเด็ก เด็กจักได้เติบโตเป็นคนฉลาดเที่ยงตรง และสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ที่พึงประสงค์ให้แก่ตนแก่ส่วนรวมได้แน่นอนมีประสิทธิภาพ
พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก วันที่ 14 มกราคม 2532
ด้านหลักคิดในการดำเนินชีวิต
“ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงาม สำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 มิถุนายน 2496
“การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้ จะมีผลดีไม่เฉพาะแกผู้ประหยัดเท่านั้น ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม 2502
“ประเพณีทั้งหลายย่อมมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของคนแต่ละคน เรามีประเพณีของชาติไทยเป็นสมบัติ เราควรยินดีอย่างยิ่งและช่วยกันส่งเสริมรักษาไว้เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ”
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 21 เมษายน 2503
“ความรู้จักอดทนและอดกลั้น ไม่ยอมตัวยอมใจให้วู่วามไปตามเหตุการณ์ตามอคติและอารมณ์ที่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจนั้น ทำให้เกิดมีการยั้งคิดและธรรมดาคนเรา เมื่อยั้งคิดได้แล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะพิจารณาเรื่องที่ทำ คำที่พูด ทบทวนดูใหม่ได้อีกคำรบหนึ่ง การพิจารณาทบทวนเรื่องใดๆใหม่ ย่อมจะช่วยให้มองเห็นละเอียดชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจอันกระจ่างสว่างไสวขึ้น”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 14 กันยายน 2516
“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมีพอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 ธันวาคม 2516
“ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดที่เป็นอยู่แก่เราในวันนี้ ย่อมมีต้นเรื่องมาก่อน ต้นเรื่องนั้นคือเหตุ สิ่งที่ได้รับคือผล และผลที่ท่านมีความรู้อยู่ขณะนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลอย่างอื่นต่อไปอีก ดังนั้นที่พูดกันว่าให้พิจารณาเหตุผลให้ดีนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ให้พิจารณาการกระทำหรือ กรรมของตนให้ดีนั่นเอง”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8 กรกฎาคม 2519
“การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญและไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้วถึงแม้จะไม่มีใครร่วมมือด้วยหรือไม่ก็ตาม ผลดีที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 20 ตุลาคม 2520
“ความบังคับตนเองนั้นเกิดขึ้นได้จากความรู้สึกระลึกได้ว่า อะไรเป็นอะไรหรือเรียกสั้นๆ ว่า สติ กล่าวคือ ก่อนที่บุคคลจะทำ จะพูด หรือแม้แต่จะคิดเรื่องต่างๆ สติหรือความรู้สึกระลึกได้นั้นจะทำให้หยุดคิดว่า สิ่งที่จะทำนั้นผิดชอบชั่วดีอย่างไร จะมีผลเสียหายหรือจะเป็นประโยชน์อย่างไรต่อไปในระยะยาว”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง 7 กรกฎาคม 2520
“การดำเนินชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทนก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้วไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ
พระราชดำรัสพระราชทานแก่ครูและนักเรียนในโรงเรียนจิตรลดา 27 มีนาคม 2523
“คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ ประการแรกคือ การรักษาความสัตย์ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม”
พระราชดำรัสพระราชทานในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า 5 เมษายน 2525
“การใช้หลักวิชาหรือใช้ทฤษฎีให้เกิดประโยชน์ได้แท้จริงนั้น จะต้องใช้ให้ถูกต้อง และสอดคล้องพอเหมาะ พอดี กับความเป็นอยู่ ความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรม ตามสภาพที่เป็นจริงในภาคพื้นต่างๆ”
พระราชดำรัส ในพิธีทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเหรียญทองเฉลิมพระเกียรติคุณฯ 21 กรกฎาคม 2530
“ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็กๆ จึงต้องฝึกฝน อบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเองเพื่อจัดได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่นคง”
พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ ในหนังสือวันเด็ก ประจำปี 2531
“โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ฉะนั้นก่อนที่จะปักใจเชื่ออะไรลงไป ควรพิจารณาดูเหตุผลให้ถ่องแท้เสียก่อน แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสำพุทธเจ้ายังทรงแนะนำให้ใช้สติและปัญญาศึกษาค้นคว้าและไตร่ตรองให้แน่ว่า คำสั่งสอนนั้น เป็นความจริงที่เชื่อได้หรือไม่ ไม่ใช่สักแต่ว่าเชื่อเพราะว่ามีผู้รู้บัญญัติไว้”
พระราชดำรัสในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของ 5 สถาบัน 3 ตุลาคม 2532
“อาจมีสิ่งที่มีอยู่แล้วที่จะใช้ไปได้ชั่วคราว คุณภาพอาจไม่ค่อยดีนัก ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าต้องใช้อะไรที่พอใช้ได้ไป ไม่อย่างนั้นไม่มีวันที่จะมีชีวิตรอดได้”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2534
“ประเทศไทยจะสามารถพ้นวิกฤตการณ์ได้ดีกว่าหลายประเทศ เพราะแผ่นดินนี้ยังเหมาะสมกับความเป็นอยู่ได้ อย่างที่เคยพูดมาหลายปีแล้วว่า ภูมิประเทศยัง”ให้” คือความเหมาะสม แต่ความเป็นอยู่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องอยู่อย่างประหยัด และต้องไปในทางที่ถูกต้อง
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2540
“การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ได้ อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2540
“คนเราเมื่อมีความสามารถที่ดีเป็นทุนรอนอยู่ ก็จะไม่มีวันอับจน ย่อมหาทางสร้างตัวสร้างฐานะให้ก้าวหน้าได้เสมอ ข้อสำคัญในการสร้างตัวฐานะนั้น จะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไปด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 18 ธันวาคม 2540
“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541
“คำว่าพอเพียงความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่า พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541
“ให้พอเพียงก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541
“เศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนามาช้านานแล้ว มาบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี่ดีมาก แล้วก็เข้าใจว่าปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงและทำได้เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่า เศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541
“อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือ ระบบพอเพียง เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วย ว่าจะแปลเป็น SELF-SUF-FICIENCY (พึ่งตนเอง) ถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้กว้างขวางกว่า SELF-SUFFICIENCY คือ SELF-SUFFICIENCYนั้น หมายความว่า ผลิตอะไร มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง (พึ่งตนเอง)”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541
“ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น”
พระราชดำรัสพระราชทานในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ครบ 50ปี
“พอมีพอกินนี่ได้พูดมาหลายปี สิบกว่าปีแล้ว ให้พอมีพอกิน แต่ว่าพอมีพอกินนี้ เป็นเพียงเริ่มต้นของเศรษฐกิจ เมื่อปีที่แล้วบอกว่า ถ้าพอมีพอกิน คือ พอมีพอกินของตัวเองนั้นไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน มีการช่วยระหว่างหมู่บ้าน หรือระหว่างจะเรียกว่าอำเภอ จังหวัด ประเทศ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน มีการไม่พอเพียง จึงบอกว่าถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียง เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็จะพอแล้ว จะใช้ได้”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542
“ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็มีเป็นขั้นๆ แต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์นี่ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน ถ้ามีการช่วยกันแลกเปลี่ยนกัน ก็ไม่ใช่พอเพียงแล้ว พอเพียงในทฤษฎีหลวงนี้ คือ ให้สามารถที่จะดำเนินงานได้”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542
“ทั้งหมดนี้ พูดอย่างนี้ก็คือ เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ย้ำแล้วย้ำอีกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า SUFFICIENCY ECONOMY ใครต่อใครก็ต่อว่า ว่าไม่มี SUFFICIENCY ECONOMY แต่ว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ ก็หมายความว่า ประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแล้วทุกคนจะมีความสุขแต่พอเพียง”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2543
“การให้ยังเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขอีกด้วย กล่าวคือ ผู้ให้ก็มีความสุขมีความอิ่มเอิบใจ ผู้รับก็มีความสุข มีกำลังใจ สังคมส่วนรวมตลอดถึงประเทศชาติก็มีความผาสุก มีความร่มเย็น”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม 2545

พระราชดำรัสของในหลวง - ข้อคิดในการใช้ชีวิต
1. อย่าทำลายความหวังของใครเพราะเขาอาจ
เหลืออยู่แค่นั้นก็ได้
2. เมื่อมีคนเล่าว่าตัวเขามีส่วนในเหตุการณ์สำคัญ
อะไรก็ตาม เราไม่ต้องไปคุยทับ ปล่อยเขาฟุ้งไป
ตามสบาย
3. รู้จักฟังให้ดี โอกาสทองบางทีมันก็มาถึงแบบแว่ว
ๆ เท่านั้น
4. หยุดอ่านคำอธิบายสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ซึ่ง
อยู่ริมทางเสียบ้าง
5. จะคิดการใด จงคิดการให้ใหญ่ ๆ เข้าไว้ แต่เติม
ความสนุกสนานลงไปด้วยเล็กน้อย
6. หัดทำสิ่งดี ๆให้กับผู้อื่นจนเป็นนิสัยโดยไม่
จำเป็นต้องให้เขารับรู้
7. จำไว้ว่าข่าวทุกชนิดล้วนถูกบิดเบือนมาแล้วทั้งนั้น
8. เรื่องเล่นเกมกับเด็ก ๆ ก็ปล่อยให้แกชนะไปเถิด
9. ใครจะวิจารณ์เราอย่างไรก็ช่าง ไม่ต้องไปเสียเวลา
โต้ตอบ
10.ให้โอกาสผู้อื่นเป็นครั้งที่”สอง” แต่อย่าให้ถึง
“สาม”
11.อย่าวิจารณ์นายจ้าง ถ้าทำงานกับเขาแล้วไม่มี
ความสุข ก็ลาออกซะ
12.ทำตัวให้สบายอย่าคิดมากถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาด
ตาย อะไร ๆ มันก็ไม่ได้สำคัญอย่างที่คิดไว้ทีแรก
หรอก
13.ใช้เวลาน้อย ๆ ในการคิดว่า “ใคร” เป็นคนถูกแต่
ใช้เวลาให้มากในการคิดว่า “อะไร”คือสิ่งที่ถูก
14.เราไม่ได้ต่อสู้กับ “คนโหดร้าย” แต่เราต่อสู้กับ
“ความโหดร้าย” ในตัวคน
15.คิดให้รอบคอบ ก่อนที่จะให้เพื่อนต้องมีภาระใน
การรักษาความลับ
16.เมื่อมีใครมาสวมกอดคุณ ให้เขาเป็นฝ่ายปล่อย
ก่อน
17.เป็นคนถ่อมตัว คนเขาทำอะไรต่ออะไรสำเร็จกัน
มามากมาย ตั้งแต่เรายังไม่เกิด
18.ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้ายเพียงใด...
สุขุมเยือกเย็นเข้าไว้
19.อย่าไปหวังเลยว่า ชีวิตนี้จะมีความยุติธรรม
20.อย่าให้ปัญหาของเราทำให้คนอื่นเขาเบื่อหน่าย ถ้า
มีใครมาถามเราว่า “เป็นยังไงบ้างตอนนี้” ก็บอก
เขาไปเลยว่า “สบายมาก”
21.อย่าพูดว่ามีเวลาไม่พอ เพราะเวลาที่คุณมี มันก็วัน
ละยี่สิบสี่ชั่วโมงเท่าๆกับที่หลุยส์ ปาสเตอร์ไม
เคิลแอนเจลโล แม่ชีเทราซา ลีโอนาร์โด ดาวินชี
ทอมัส เจฟเฟอร์สัน หรือ อัลเบิร์ด ไอน์สไตน์ เขา
มีนั่นเอง
22.เป็นคนใจกล้าและเด็ดเดี่ยว เมื่อเหลียวกลับไปดู
อดีต เราจะเสียใจในสิ่งที่อยากทำแล้วไม่ได้ทำ
มากกว่าเสียใจในสิ่งที่ทำไปแล้ว
23.ประเมินตนเองด้วยมาตรฐานของตัวเอง ไม่ใช่
ด้วยมาตรฐานของคนอื่น
24.จริงจังและเคี่ยวเข็ญต่อตนเอง แต่อ่อนโยนและ
ผ่อนปรนต่อผู้อื่น
25.อย่าระดมสมอง เพราะไอเดียดีๆใหม่ๆ และ
ยิ่งใหญ่จนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ล้วนมา
จากบุคคลที่คิดค้นอยู่แต่เพียงผู้เดียวทั้งสิ้น
26.คงไว้ซึ่งความเป็นคนเปิดเผย อ่อนโยน และอยาก
รู้อยากเห็น
27.ให้ความนับถือแก่ทุกคนที่ทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่
ว่างานที่เขาทำนั้นจะกระจอกงอกง่อยสักปานใด
28.คำนึงถึงการมีชีวิตให้ “กว้างขวาง” มากกว่าการ
มีชีวิตให้ “ยืนยาว”
29.มีมารยาทและอดทนกับคนที่สูงวัยกว่าเสมอ

พระราชดำรัส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ด้านการเมือง การปกครอง และด้านกฎหมาย
----------------------------------------
คำว่า “ดำรัส” หมายถึง คำพูด ซึ่งตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
ได้บ่งบอกการใช้เอาไว้ว่า ถ้าเป็นคำพูดของเจ้านายใช้ว่า “พระดำรัส” หากเป็นคำพูดของ
พระมหากษัตริย์ใช้ว่า “พระราชดำรัส”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันที่พระราชทานแก่บุคคล
คณะบุคคล หรือประชาชนทั่วไป ตลอดมาที่ทรงครองราชย์นั้น มีมากมาย หลากหลายกรณี ทั้งใน
ด้านการเมือง ด้านการปกครอง และด้านกฎหมาย ซึ่งพระราชดำรัสที่ทรงแสดงให้ปรากฏแก่
ประชาชนทุกหมู่เหล่า มีความสำคัญและมีคุณค่าอย่างยิ่งที่ประชาชนทุกระดับสมควรที่จะได้
น้อมนำมาปฏิบัติและเป็นแบบอย่างแก่ตนเอง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตนเอง ครอบครัว
สังคม และประเทศชาติโดยรวม ซึ่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงแสดง
ออกนั้น โดยมีจุดมุ่งหมายให้ประเทศชาติมีความมั่นคงปลอดภัย มีความเจริญก้าวหน้าและประชาชน
มีความผาสุข อาทิ พระราชดำรัสที่ทรงแนะนำการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์มากมาย
โดยเฉพาะการเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจช่วงปี ๒๕๓๙ ทรงชี้นำวิถีชีวิตคนไทยที่ควรปฏิบัติ คือ
เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) และทฤษฎีใหม่ (New Theory) เพื่อให้คนไทยต่อสู้กับ
วิกฤติดังกล่าวได้ หรือพระราชดำรัสกรณีที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อเดือนพฤษภาคม
๒๕๓๕ ที่ทำให้เหตุการณ์วิกฤติของประเทศไทยสงบลงได้อย่างเหลือเชื่อ อีกทั้งพระราชดำรัสที่
เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายที่ทรงให้ข้อคิดแก่นักกฎหมาย และผู้ที่ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมายในเรื่อง
ที่เกี่ยวกับการใช้กฎหมายนั้น ให้ธำรงรักษาและผดุงความยุติธรรมโดยเคร่งครัด รวมทั้งการทำให้
กฎหมายมีผลบังคับได้และสามารถปฏิบัติตามได้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประเทศ และ
ความผาสุขของประชาชน
ในที่นี้จึงขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบางองค์มาแสดงให้
ปรากฏต่อผู้คนทั่วไป เพื่อจะได้น้อมนำข้อคิด ข้อแนะนำต่าง ๆ ไปปฏิบัติ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แก่ตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติโดยรวมและเป็นการสนองพระราชปณิธานที่ว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระราชดำรัสเกี่ยวกับด้านการเมือง
พระราชดำรัส
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๒
วันอังคารที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑
------------------------------
ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย
ในโอกาสที่จะขึ้นปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ นี้ ข้าพเจ้าขออวยพรปีใหม่และขอส่งความ
ปรารถนาดีมายังท่านทั้งหลายอีกวาระหนึ่ง
ขอขอบใจท่าน ที่ได้แสดงน้ำใจไมตรีต่อข้าพเจ้าและพระราชินีกับลูก ๆ ทุกคน ทั้งได้ร่วมมือ
สนับสนุนในกิจทุกอย่างด้วยดีตลอดมา ทำให้เกิดกำลังใจเป็นอันมาก.
ในรอบปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ของบ้านเมืองโดยส่วนรวมกล่าวได้ว่ายังเป็นปรกติงานทั้งปวง
ยังดำเนินมาได้เรียบร้อยพอสมควร โครงการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ตลอดจนการเจริญสัมพันธไมตรี
กับมิตรประเทศเป็นมาโดยราบรื่น ทำให้บังเกิดความก้าวหน้าและเป็นคุณแก่ประเทศหลายประการ
สิ่งสำคัญที่ทางราชการได้กระทำ คือได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นที่หวังว่า
จะทำให้การปกครองประเทศเข้ารูปเข้ารอยต่อไปก็จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ท่านทั้งหลาย
ควรจะได้ใช้สิทธิ์และทำหน้าที่ของท่านให้ดีที่สุด
แต่พร้อมกันกับที่เราพยายามปฏิบัติการทุกอย่าง เพื่อสร้างความเจริญมั่นคงของประเทศ
อยู่นี้ ฝ่ายตรงข้ามก็รุกรานเราไม่หยุดยั้ง ทั้งด้วยการแทรกซึมบ่อนทำลายและด้วยการใช้กำลังรบ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายเราต้องต่อสู้ป้องกันความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศอย่างหนัก
เราทั้งหลายไม่พึงประมาทต่อเหตุการณ์ ต้องตระหนักว่าเรามีศัตรูคอยมุ่งร้าย เพราะฉะนั้น ทุกคน
จะต้องตั้งมั่นในความสามัคคีและความไม่ประมาท จะต้องใช้ปัญญา และความรอบคอบคิดอ่าน
ก่อนที่จะกระทำการทั้งปวง จะต้องร่วมกันป้องกันแก้ไขและกำจัดสิ่งชั่วร้ายเป็นอันตรายต่อ
ประเทศชาติ หมั่นประกอบสัมมาอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต คิดถึงประโยชน์สุขส่วนรวมของ
บ้านเมืองเป็นนิจเป็นสำคัญ
ขออานุภาพแห่งพระรัตนตรัยจงปกป้องคุ้มครองท่านทั้งหลายให้แผ้วพ้นจากภัยทุกทุก
ประการ บันดาลให้มีกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสามัคคีอันมั่นคง ให้สามารถประกอบกรณียกิจ
ทั้งปวงตามหน้าที่ให้ลุล่วงเป็นประโยชน์ได้โดยสมบูรณ์ และสามารถดำรงความเป็นปึกแผ่นพร้อม
ทั้งความเจริญผาสุกของบ้านเมืองไว้สืบไปชั่วกาลนาน ขอทุกท่านจงประสบความสุขสิริสวัสดิ์
สำเร็จในสิ่งพึงปรารถนาตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน.
กระแสพระบรมราโชวาท
ในโอกาสที่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี
นำคณะรัฐมนตรีเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันอังคาร ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๖
---------------------------------
ข้าพเจ้าขอขอบใจนายกรัฐมนตรีที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกท่านที่ได้รับ
เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ ท่านได้มารับตำแหน่งในวาระที่วิกฤติอย่างยิ่ง และเป็นสถานการณ์ที่
ฉุกเฉิน การที่ได้รับตำแหน่งในวาระนี้จึงเป็นสิ่งที่ลำบากที่จะปฏิบัติต่อไป เพราะว่างานต่าง ๆ จะต้อง
ทำด้วยความกล้าหาญ ทำด้วยความรอบคอบ เพื่อให้สามารถนำพาประเทศชาติให้มีความมั่นคง
และมีความเจริญต่อไป
ปัญหาของสถานการณ์ในปัจจุบันนี้มีแปลกประหลาดหลายอย่าง คือนอกจากงานตาม
ปรกติของประเทศชาติที่จะต้องปฏิบัติ เช่น สวัสดิภาพของประชาชน ความก้าวหน้าของประชาชน
ตามปรกติแล้ว ยังมีสถานการณ์ที่แหวกแนว และถ้าพูดถึงสถานการณ์แบ่งก็ได้เป็นสองอย่าง
แบ่งสถานการณ์เป็นทางวัตถุอย่างหนึ่ง กับสถานการณ์ทางจิตใจอีกอย่างหนึ่ง ทางวัตถุสำหรับใน
กรุงเทพนี้ นอกจากสถานการณ์ทางวัตถุที่เป็นปรกติคือสิ่งก่อสร้างขึ้นมา ซึ่งจะต้องพยายามสร้าง
ให้ดีขึ้น ยังมีสิ่งที่ถูกทำลายซึ่งจะต้องซ่อมแซม ในทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน มีสิ่งที่จะต้องพัฒนาให้
ประชาชนมีความคิดที่ดีมีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความคิดในทางพัฒนา และอีกอย่างหนึ่งก็ต้อง
ซ่อมแซมจิตใจที่สูญลงไปด้วยเหตุการณ์ที่ได้ผ่านมาในสัปดาห์ที่แล้ว เหตุการณ์นี้ได้ทำให้มีการ
เปลี่ยนแปลงอย่างประหลาด เพราะว่าเป็นเรื่องของจิตใจที่จะอยากให้มีการปกครองที่ถูกต้อง เพื่อให้
ทุกคนได้สามารถอยู่ในประเทศไทยด้วยความมีเกียรติ ด้วยความปลอดภัย และด้วยความภูมิใจ
แต่สภาพในปัจจุบันนี้ก็พูดอีกอย่างได้เหมือนกันว่าเป็นอย่างไร ยิ่งค้านกัน คือการได้มาซึ่งสำหรับ
คนภายนอกทั่ว ๆ ไปเห็นว่าเป็นการได้มาซึ่งประชาธิปไตย โดยได้ต่อสู้ และได้เท่ากับได้ชัยชนะ
ว่ารัฐบาลนี้จะให้ประชาธิปไตย และได้แถลงแล้วก่อนอื่นว่าจะได้รัฐธรรมนูญภายใน ๖ เดือน แต่ใน
เวลาเดียวกันกลไกต่าง ๆ ของการปกครองก็อลเวงไปหมด เช่น การรักษาความสงบก็ตาม คือการ
รักษาความสะอาดทั้งทางจิตใจและทางวัตถุ แทนที่จะเป็นของทางราชการ ก็เป็นของเอกชน และ
รัฐบาลนี้ก็จะต้องมีหน้าที่ที่พิเศษ คือจะต้องทำให้ภาระต่าง ๆ กลับคืนมาสู่ตน ภาระต่าง ๆ
ของรัฐบาล ของทางราชการก็ต้องกลับมาเป็นของทางราชการ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้ได้บรรลุผลถึง
จุดประสงค์ของการมีรัฐบาล ของการมีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย คือเป็นผู้นำพาประเทศ
ไปสู่ความเจริญ หรือความดี และโดยมากตามแบบประชาธิปไตย ก็คือมีการเลือกผู้แทนของแต่ละคน
ขึ้นมาเพื่อที่จะมาปกครองประเทศ มาเป็นสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรจึงได้เลือกหรือ
ควบคุมผู้ที่จะมาเป็นคณะรัฐมนตรี ในปัจจุบันนี้คณะรัฐมนตรีตั้งขึ้นมามิใช่โดยที่ประชาชนได้เลือก
ขึ้นมา แต่โดยตั้งขึ้นมาเฉย ๆ มาทำหน้าที่ ซึ่งควรจะทำได้.
------------------------------
พระราชดำรัส
ในโอกาสที่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี นำพลเอก สุจินดา คราประยูร
และพลตรี จำลอง ศรีเมือง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันพุธ ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ เวลา ๒๑.๓๐ น.
---------------------------------------
๑ คงไม่เป็นที่แปลกใจทำไมถึงเชิญให้ท่านมาพบกันอย่างนี้ เพราะว่าทุกคนก็ทราบว่าเหตุการณ์
มีความยุ่งเหยิงอย่างไร และก็จะทำให้ประเทศชาติล่มจมไปได้ แต่ที่จะแปลกใจก็อาจจะมีว่าทำไมเชิญ
พลเอก สุจินดา คราประยูร และพลตรี จำลอง ศรีเมือง เพราะว่าอาจจะมีผู้ที่เป็นตัวแสดง ตัวละคร
มากกว่านี้ แต่ที่เชิญมาเพราะว่า ตั้งแต่แรกที่มีเหตุการณ์ สองท่านเป็นผู้ที่เผชิญหน้ากัน และก็ในที่สุด
การต่อสู้หรือการเผชิญหน้า กว้างขวางออกไป ถึงได้เชิญสองท่านมา
๒ การเผชิญหน้าตอนแรก ก็จะเห็นจุดประสงค์ของทั้งสองฝ่ายได้ชัดเจนพอสมควร แต่ต่อมา
ภายหลัง ๑๐ กว่าวัน ก็เห็นแล้วว่าการเผชิญหน้านั้น เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมาก จนกระทั่งผล
จะออกมาอย่างไรก็ตาม ก็จะเสียทั้งนั้น เพราะว่าทำให้มีความเสียหายในทางชีวิตเลือดเนื้อของคน
จำนวนมากพอสมควร แล้วก็มีความเสียหายทางวัตถุ ซึ่งเป็นของส่วนราชการและส่วนบุคคล
เปน็ มูลคา่ มากมาย นอกจากนนั้ ก็มีความเสียหาย ในทางจิตใจ และในทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ
อย่างที่จะนับคณนาไม่ได้ ฉะนั้นการที่จะเป็นไปอย่างนี้ต่อไป จะเป็นด้วยเหตุผลหรือต้นตอ
อย่างไรก็ช่าง เพราะเดี๋ยวนี้เหตุผลเปลี่ยนไป ถ้าหากว่า เผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไป เมืองไทยมีแต่
ล่มจมลงไป แล้วก็จะทำให้ประเทศไทยที่เราสร้างเสริมขึ้นมาอย่างดีเป็นเวลานาน จะกลายเป็น
ประเทศที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายในทางลบอย่างมาก ซึ่งก็เริ่มปรากฏผลแล้ว ฉะนั้น
จะต้องแก้ไข โดยที่ดูว่ามีข้อขัดแย้งอย่างไร แล้วก็พยายามที่จะแก้ไขตามลำดับ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ปัญหา
ที่มีอยู่ทุกวันนี้ สองสามวันนี้ มันเปลี่ยนไป ปัญหาไม่ใช่เรื่องของที่เรียกว่าการเมือง หรือเรียกว่าของการ
ดำรงตำแหน่งอะไร มันเป็นปัญหาของการสึกหรอของประเทศชาติ ฉะนั้นจะต้องช่วยแก้ไข
๓ มีผู้ที่ส่งข้อแนะนำในการแก้ไขสถานการณ์มาหลายฉบับ หลายคนจำนวนเป็นร้อย แล้วก็ทั้ง
ในเมืองไทยทั้งต่างประเทศก็ส่งมา ที่เขาส่งมา การแก้ไข หรือการแนะนำว่า เราควรจะทำอย่างไร
ก็มีต่าง ๆ นานา ตั้งแต่ตอนแรก ก็บอกว่าให้แก้ไขด้วยวิธียุบสภา ซึ่งก็ได้หารือกับทุกฝ่ายที่เป็นสภา
หมายความว่า พรรคการเมืองทั้งหมด ๑๑ พรรค ใน ๑๑ พรรคนี้ คำตอบมีมาว่า ไม่ควรยุบสภา
เป็นส่วนมาก มี ๑ รายที่บอกว่า ควรยุบสภา ฉะนั้นการที่จะแก้ไขแบบที่เขาเสนอมานั้น ก็เป็นอันว่า
ตกไป นอกจากนั้นก็มีเป็นฎีกาและแนะนำวิธีการต่าง ๆ กัน ซึ่งก็ได้พยายามเสนอไปตามปกติ
คือเวลามีฎีกาขึ้นมาก็ส่งไปให้ทางสำนักคณะรัฐมนตรี หรือสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถ
ที่จะแก้ไขตามแบบนั้น ตกลงมีแบบยุบสภา และก็มีอีกแบบหนึ่ง คือแบบแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้
ได้ตามประสงค์ที่ต้องการ หมายความถึงประสงค์เดิมที่เกิดเผชิญหน้ากัน
๔ ความจริงวิธีนี้ ถ้าจำกันได้ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ ก็ได้พูดต่อสมาคมที่มาพบจำนวน
หลายพันคน แล้วก็ดูเหมือนว่าพอจะฟังกัน ฟังกันโดยดีเพราะเหตุผลที่มีอยู่ในนั้นดูจะแก้ปัญหาได้
พอควร ตอนนี้ก็ขอย้ำว่าทำไมพูดอย่างนั้น ว่าถ้าจะ “แก้ก่อนออก” ก็ได้ หรือ “ออกแล้วแก้” ก็ได้
อันนั้นทุกคนก็ทราบดีว่าเรื่องอะไร ก็เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งครั้งนั้นการแก้รัฐธรรมนูญก็ได้ทำมาตลอด
มากกว่าฉบับเดิมที่ได้แก้ไขไว้ แล้วก็ก่อนที่ไปพูดที่ศาลาดุสิดาลัย ก็ได้พบพลเอก สุจินดา ก็ขอ
อนุญาตเล่าให้ฟังว่า พบพลเอก สุจินดา แล้วพลเอก สุจินดา ก็เห็นด้วยว่าควรจะประกาศใช้
รัฐธรรมนูญนี้ และแก้ไขต่อไปได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำกันได้ และตอนหลังนี้ พลเอก สุจินดา ก็ได้ยืน
ยันว่าแก้ไขได้ ก็ค่อย ๆ แก้ให้เข้าระเบียบ ให้เป็นแบบที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ฉะนั้นก็ได้พูดตั้ง
หลายเดือนมาแล้ว ในวิธีการที่จะแก้ไขแล้วข้อสำคัญอยู่ที่ทำไมอยากให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แม้จะ
ถือว่ารัฐธรรมนูญนี้ยังไม่ครบถ้วน ก็เพราะเหตุว่ารัฐธรรมนูญนั้น มีคุณภาพพอใช้ได้ ดีกว่าธรรมนูญ
การปกครองชั่วคราวที่ใช้มาเกือบปี เพราะเหตุว่ามีบางข้อบางมาตราซึ่งเป็นอันตรายแล้วก็ไม่ครบถ้วน
ในการที่จะใช้ปกครองประเทศ ฉะนั้นก็นึกว่าถ้าหากว่าสามารถที่จะปฏิบัติตามที่ได้พูดในวันที่ ๔
ธันวา นั้น ก็เท่ากับเป็นการกลับไปดูปัญหาแต่เดิมไม่ใช่ปัญหาวันนี้
๕ ปัญหาวันนี้ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาทุกวันนี้ คือความ
ปลอดภัย และขวัญของประชาชน ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกแห่งทุกหน มีความหวาดระแวงว่า
จะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่าประเทศชาติจะล่มจม โดยที่จะแก้ไขลำบาก ตามข่าวที่ได้ทราบ
มาจากต่างประเทศ เพราะเหตุว่าในขณะนี้ทั้งลูกชายทั้งลูกสาวก็อยู่ต่างประเทศ ทั้งสองก็ทราบดี
แล้วก็ได้พยายามที่จะแจ้งกับคนที่อยู่ในประเทศเหล่านั้น ว่าประเทศไทยนี้จะยังแก้ไขสถานการณ์ได้
แต่ว่ารู้สึกว่าจะเป็นความคิดที่เป็นความคิดแบบหวังสูงไปหน่อย ถ้าหากว่าเราไม่ทำให้สถานการณ์
อย่าง ๓ วันที่ผ่านมานี้สิ้นสุดลงไปได้ ฉะนั้นก็ขอให้ท่านโดยเฉพาะสองท่านพลเอก สุจินดา และ
พลตรี จำลอง ช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา
ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน ต้องเข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากัน แก้ปัญหา
เพราะว่าอันตรายมีอยู่เวลาคนเราเกิดความบ้าเลือด ปฏิบัติการรุนแรงต่อกัน มันลืมตัว ลงท้ายก็ไม่รู้
ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่า จะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ
อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วก็ที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ
ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่า
กรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไร ที่จะทะนงตัว
ว่าชนะ เวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง
๖ ฉะนั้นจึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้า แต่ต้องหันหน้าเข้าหากัน และสองท่านนี้
เท่ากับเป็นผู้แทนของฝ่ายต่าง ๆ คือ ไม่ใช่สองฝ่าย คือฝ่ายต่าง ๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้
ปัญหาปัจจุบันนี้ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้ว จะมาพูดกัน ปรึกษากัน
ว่าจะทำอย่างไรสำหรับให้ประเทศไทยได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้ กลับมาคืนได้โดยดี อันนี้เป็น
เหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมา และก็เชื่อว่าทั้งสองท่านก็เข้าใจว่าจะเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศจาก
สิ่งปรักหักพัง แล้วก็จะได้ผลในส่วนตัวมาก ว่าได้ทำดี แก้ไขอย่างไร ก็แล้วแต่ที่จะปรึกษากัน ก็มี
ข้อสังเกตดังนี้
๗ ท่านประธานองคมนตรี ท่านองคมนตรีเปรม ก็เป็นผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้ที่พร้อมที่จะให้คำแนะนำ
ปรึกษาหารือกันด้วยความเป็นกลาง ด้วยความรักชาติเพื่อสร้างสรรค์ประเทศให้เข้าสู่ทางของความ
วัฒนา ขอฝากให้ช่วยกันสร้างชาติ.
----------------------------------
พระราชดำรัสเกี่ยวกับด้านการปกครอง
พระราชดำรัส
ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเฝ้าฯ
ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๓๘
-----------------------------------------
การที่รัฐมนตรีต้องมากล่าวคำปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของ
รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความหมายว่าจะต้องตั้งใจปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อบริหารประเทศ
ให้มีความก้าวหน้าคงทนถาวร ทำให้ประชาชนมีความสุขความเจริญก้าวหน้าตามที่ควรที่จะเป็น.
ระบอบประชาธิปไตยก็เป็นระบอบที่ควรจะเหมาะสมสำหรับการปกครองประเทศเพราะว่า
ประชาชนได้มีเสียงมีสิทธิ์ ที่จะบอกชี้นำว่าประเทศควรจะไปทางไหน. มาบัดนี้มีการเลือกตั้ง
ก็หมายความว่าประชาชนได้ชี้ว่า อยากได้อะไร. แต่ว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่มีชีวิต
จะต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ. บางทีก็อาจไม่เป็นระบอบที่ดีเด่นที่สุดก็ได้ แต่ก็แล้วแต่ผู้ปฏิบัติ.
ถ้าผู้ปฏิบัติปฏิบัติดี ก็สามารถที่จะปั้นเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยก้าวหน้าไปสู่ส่วนที่จะเป็น
เป้าหมายที่สูง คือความก้าวหน้าของประเทศด้วยความเห็นหรือความต้องการของประชาชน
ทั้งประเทศ. ฉะนั้นท่านทั้งหลายจึงมีหน้าที่สำคัญ.
ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยได้พัฒนามาเรื่อย ๆ . เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ก็จะดูพัฒนาไป
ในทางที่จะเข้ารูปเข้ารอยได้ เพราะว่ามีการเลือกตั้งมาหลายครั้งในลักษณะต่าง ๆ. ถ้าปฏิบัติ
อย่างนี้ ต่อไป และพยายามที่จะทำด้วยความสามารถ ก็จะทำให้ระบอบนี้บรรลุเป้าหมาย. ความ
สามารถนั้น ก็คือความสามารถของท่านทั้งหลาย. ความรู้ในวิชาการ ความรู้ในประสบการณ์ที่มี
เอามาใช้หมด ข้อหนึ่ง. อีกข้อหนึ่ง คือความมีจิตใจที่สุจริต มีจิตใจที่ตั้งอกตั้งใจที่จะทำให้สิ่งที่ดี
เว้นเสียจากสิ่งที่ไม่ดี. ดังนี้ ก็จะบรรลุผลตามปรารถนา. เชื่อว่าทุก ๆ ท่านก็ตั้งใจเช่นนี้.
อีกข้อหนึ่งที่น่าจะพูดก็คือ ประชาธิปไตยนี้ตามแบบ แบ่งเป็นอำนาจบริหาร อำนาจ
นิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ. ถ้าพูดอย่างนี้ อาจไม่ได้เป็นตามลำดับ. บางคนก็จะบอกว่าอำนาจ
นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ หรือบางคนก็จะบอกว่า อำนาจตุลาการ นิติบัญญัติ บริหาร หรือกลับ
ไปอีกทางก็อำนาจตุลาการ บริหาร และนิติบัญญัติแล้วแต่จะพูด.
ท่านทั้งหลายตามหลักที่ท่านได้ถือว่า ในรัฐธรรมนูญบอกว่า นายกต้องมาจากการ
เลือกตั้ง. ในที่นี้ก็หมายความว่า เลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร มิใช่ว่าเลือกตั้งเป็นนายก. ใน
รัฐธรรมนูญไม่มีบัญญัติไว้ ว่ามีการเลือกตั้งนายก แต่เข้าใจกันว่าต้องเลือกตั้ง. มาจากเลือกตั้ง
ก็หมายความว่าเป็นผู้แทนราษฎร. ท่านนายกก็เป็นผู้แทนราษฎร ก็เป็นอันว่าใช้ได้. รัฐมนตรีมิได้
บอกว่าต้องเป็นผู้แทนราษฎร แต่ส่วนใหญ่ท่านก็เป็นผู้แทนราษฎรก็ใช้ได้.
ปัญหาเกิดขึ้นว่า เมื่อแบ่งอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารแล้ว ท่านเป็นอะไร. ท่านเป็น
ผู้แทนราษฎร ท่านก็เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติ.
มาบัดนี้ท่านเป็นรัฐมนตรี ท่านก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่บริหาร. อันนี้ก็เลยแบ่งตัว แยกตัว ผ่าตัดตัว
เป็นนิติบัญญัติส่วนหนึ่งบริหารส่วนหนึ่งหรือ. อันนี้เป็นปัญหาที่ตอบไม่ได้ เพราะว่าค่อนข้างจะ
ทารุณที่จะเอาแต่ละท่านมาหั่นเป็นสองส่วน, ฉะนั้นอยู่ที่ใจ. ท่านจะปฏิบัติหน้าที่บริหาร ก็จะต้อง
ถือว่าท่านเป็นผู้บริหาร เป็นฝ่ายบริหารเป็นสำคัญ. ความเป็นผู้แทนราษฎรนั้น ก็ยังคงเป็นตาม
รัฐธรรมนูญ. จะเป็นปัญหาอยู่ว่าจะปฏิบัติตนอย่างไร. อันนี้ไม่มีคำตอบ
ฉะนั้นการที่ท่านจะปฏิบัติหน้าที่ ท่านจะต้องมีความคิด ท่านจะต้องมีความสามารถที่จะ
เลือกสิ่งที่ดีที่ชอบ. ถ้าท่านเลือกสิ่งที่ดีที่ชอบ สมัยนี้ชอบใช้คำว่าชอบธรรมจะแปลว่าอะไรก็ไม่ทราบ
แต่ว่าชอบพูดว่า ชอบธรรม. แปลเป็นภาษาอังกฤษ ก็แปลเองว่า ควรจะเป็นคำว่า legitimate. legit
นี่มาจากคำว่า lex แปลว่า กฎหมายถูกกฎ ชอบธรรม. หมายความว่า ท่านนะเป็นรัฐมนตรีโดย
ชอบธรรม ขอให้ท่านปฏิบัติงานโดยชอบธรรมอย่าง Legitimate อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้ง
ชอบธรรมถูกต้องตามศีลธรรม.
ถ้าทำเช่นนั้นแล้วไม่มีปัญหา หมดปัญหา. เพราะว่าทุกคนก็มีความรู้ ผ่านงานมาได้ดี
ได้ผ่านงานทั้งในด้านอาชีพต่าง ๆ และทั้งในด้านเป็นผู้แทนราษฎร มาพูดจาในสภาคนได้ยินท่าน
พูดทั่วประเทศ เพราะว่าสมัยนี้มีการถ่ายทอดวิทยุโทรทัศน์ทุกครั้ง. คนก็ชี้ว่าคนนี้เป็นอย่างนั้น คน
นี้เป็นอย่างนี้ จำหน้าได้. พูดอะไร ดีไม่ดีอย่างไร เขาก็จำได้. คนเขาฉลาด. ฉะนั้นต่อไปนี้ขอให้ท่าน
ปฏิบัติให้ดี และทำให้ประเทศชาติมีความเจริญรุ่งเรือง. ในการนี้ขอให้ทุก ๆ ท่านมีความกล้าหาญ
มีความฉลาดเฉลียว มีความสามารถ มีความชอบธรรม มีความสุจริตในงานการทั้งปวง จึงจะเป็นผู้
ที่นำความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติ ความปลอดภัย ความสุขแก่ประชาราษฎรโดยทั่วไป.
ขอให้ทุก ๆ ท่านจงมีอนามัย ทั้งกาย ทั้งใจเข้มแข็งแข็งแรงอย่างที่สุด เพื่อให้สามารถบรรลุ
เป้าหมาย ที่ท่านควรจะมีอยู่ในใจ และขอให้ทุก ๆ ท่านได้ประสบความสำเร็จในกิจทั้งปวง
ทั้งส่วนตัว ทั้งทางราชการ.
------------------------------
พระราชดำรัส
ในโอกาสที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันพุธที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑
---------------------------
ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกท่าน ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น
ตุลาการของศาล เป็นที่พึ่งที่จะเป็นศาลที่ช่วยให้ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อยได้อย่างดี.
การที่ท่านได้เปล่งคำปฏิญาณนี้ก็เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็มีความ
สำคัญมาก เพราะว่าท่านก็ได้เปล่งวาจาว่าจะปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากสิ่งชั่ว
ทั้งปวงของชาติบ้านเมือง. ข้าเหล่านี้ก็เป็นเพียงคำพูด แต่ที่สำคัญก็เข้าใจว่า ท่านทุกคนมีความ
ตั้งใจแน่วแน่ ที่จะใช้ความรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้มา เพื่อที่จะให้กรอบรัฐธรรมนูญไทยทำงานได้
อย่างเต็มที่ โดยที่ถ้าเกิดปัญหาใด ๆ อาจสามารถที่จะแก้ไขได้. ด้วยการนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะ
ทำตามคำปฏิญาณ และนอกเหนือจากคำปฏิญาณ. จะต้องทำตามความตั้งใจที่มีในแต่ละท่าน
คือความละเอียดรอบคอบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าในสมัยปัจจุบันนี้ทำอะไรค่อนข้างจะผิวเผิน
ค่อนข้างจะเอาแต่เอาชนะ. หน้าที่ของท่านไม่ใช่เอาชนะ แต่ว่าหน้าที่ของท่านที่จะทำต่อไปนี้ ก็คือ
ให้มีความละเอียดรอบคอบในระเบียบการต่าง ๆ. ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อระเบียบงานต่าง ๆ
ที่ตั้งขึ้นมาสำหรับการปกครองประเทศ อยู่ในดุลยพินิจของท่านทั้งหลายทุกเรื่อง. ฉะนั้น การที่ท่าน
ได้มากล่าวคำปฏิญาณ ก็เข้าใจว่าทุกท่านได้ตั้งจิตที่มั่นคง เพื่อที่จะให้หน้าที่ของท่านลุล่วงไปโดย
ดีอย่างรอบคอบ และอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการปกครองและหลักวิชาทั้งหลายที่ทำให้คนเป็นคน.
ก็ขอแสดงความยินดีกับท่านทั้งหลาย และขอขอบใจที่ท่านมีความตั้งใจที่แน่วแน่เช่นนี้ ขอให้ท่านมี
กำลังทั้งกายทั้งใจเข้มแข็ง เพื่อที่จะใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ท่านมี เพื่อภารกิจอันสูงที่ท่านจะ
พึงปฏิบัติต่อไป และรักษาเกียรติรักษาชื่อเสียงของท่านทั้งหลาย ทั้งเป็นบุคคลและทั้งเป็นคณะ
เพื่อที่จะแสดงให้ประชาชนเห็นว่ามีที่พึง.
ขอให้ท่านได้ประสบความสำเร็จ ความเจริญ ให้มีกำลังใจกำลังกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัย
ไข้เจ็บต่าง ๆ มาเบียดเบียน สามารถปฏิบัติงานอันสำคัญได้โดยเต็มที่ และมีความพอใจที่ได้
ทำงานเพื่อส่วนรวม เป็นเกียรติแก่ตนเอง และประสบความสำเร็จทุกประการ.
พระราชดำรัส
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๔๓
วันศุกร์ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๒
--------------------------------------------
ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย
บัดนี้ถึงวาระที่จะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทั้งหลาย
ทั่วกัน ทั้งขอขอบใจท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่ร่วมกันจัดงานฉลองวันเกิดครบ ๖ รอบ ให้อย่างงดงาม
ยิ่งใหญ่ รวมทั้งได้แสดงไมตรีจิตความหวังดีโดยประการต่าง ๆ ทำให้เกิดกำลังใจเป็นอันมาก.
เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายปีแล้ว ที่บ้านเมืองของเรามีความเปลี่ยนแปลงมาตลอดทั้งใน
วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและของประชาชนทั่วไป เป็นเหตุให้เราต้องประคับประคองตัวมากขึ้น
เพื่อให้อยู่รอดและก้าวต่อไปโดยสวัสดี. ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้ทุกคนเข้าใจและเล็งเห็น
สถานการณ์ของบ้านเมืองตามเป็นจริง. เวลานี้ บ้านเมืองของเรากำลังต้องการการปรับปรุงและ
การพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ. ทางที่เราจะช่วยกันได้ก็คือการที่ทำความคิดให้ถูกและแน่วแน่
ในอันที่จะยึดถือประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่หมาย. ต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัวและ
ความขัดแย้งกันในสิ่งที่มิใช่สาระลง. ต้องหันหน้าปรึกษากัน ด้วยความรู้คิด ด้วยความเป็นญาติ
เป็นมิตร และเป็นไทยด้วยกัน ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใดอยู่ ก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไป
ให้ทันการณ์ทันเวลา. ผลงานของแต่ละคนแต่ละฝ่ายจักได้ประกอบส่งเสริมกันขึ้น เป็นความสำเร็จ
และความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ.
ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านตั้งความหวัง ตั้งความเพียรอันมั่นคงไว้ ที่จะช่วยตัวช่วยชาติให้
หนักแน่นยิ่งขึ้น ทั้งด้วยการขะมักเขม้นทำงานให้เต็มกำลังความสามารถ ทั้งด้วยการดำเนินชีวิต
อย่างระมัดระวัง ให้รู้จักพอเหมาะพอประมาณ จะคิดอ่านปฏิบัติการใดให้ยึดมั่นในประโยชน์ส่วน
รวมและชาติบ้านเมืองเป็นเป้าหมายสูงสุด.
ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเคารพบูชา จงอภิบาล
รักษาท่านทุกคน ให้มีความสุขปราศจากทุกข์ภัยทุกเมื่อทุกสถาน บันดาลให้มีกำลังกายใจและ
ปัญญาอันกล้าแข็งพร้อมมูล ที่จะประกอบกรณียกิจน้อยใหญ่ให้บรรลุผลเลิศทุก ๆ
ด้านทั้งสามารถธำรงรักษาอธิปไตย และความเจริญร่มเย็นของบ้านเมืองให้สถิตเสถียรตลอดไป
ชั่วกาลนาน.
พระราชดำรัสเกี่ยวกับด้านกฎหมาย
กระแสพระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน “วันรพี”
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันพุธ ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๑๖
----------------------------------
ขอแสดงความยินดีที่คณะนิติศาสตร์ได้สามารถที่ให้จัดกิจกรรมต่าง ๆ และได้ทำประโยชน์
ต่อส่วนรวม ซึ่งประโยชน์นี้จะมีประโยชน์โดยตรงแก่ประชาชน และเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังศึกษา
อยู่โดยตรงเป็นอย่างยิ่ง
อันกฎหมายนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับบ้านเมืองเพราะว่าหลักของการเป็นอยู่ร่วมกัน
ในชาติบ้านเมือง เพื่อให้การเป็นอยู่มีระเบียบเรียบร้อย และให้ทุกคนที่อยู่ในชาติได้สามารถที่จะมี
ชีวิตที่รุ่งเรืองโดยไม่เบียดเบียนกันหน้าที่ของผู้ที่รักษากฎหมายและผู้ที่ปฏิบัติกฎหมายก็มีหลายด้าน
ด้านแรกก็คือที่จะให้บุคคลต่าง ๆ สามารถที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย และถ้ามีเหตุใดก็ทำให้ปฏิบัติการ
ในทางกฎหมายเป็นไปโดยยุติธรรม ไม่ทำให้ผู้ใดเสียเปรียบได้เปรียบกันมากเกินไป ในด้านนี้ก็จะ
ต้องให้ประชาชนทั้งหลายมีความรู้ในข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งท่านได้ทำบริการชี้แจงเรื่องกฎหมายแก่
ประชาชนอยู่แล้ว นอกจากนี้จะต้องศึกษากฎหมายให้สามารถที่จะบริการประชาชนได้ดีที่สุด คือ
ถ้ามีช่องโหว่หรือมีกฎหมายที่ไม่เหมาะสมแก่เหตุการณ์ ก็จะต้องพยายามจะศึกษาเพื่อที่จะให้ปรับปรุง
ให้ดี เราจะต้องพิจารณาในหลักว่า กฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่ว่ากฎหมาย
มีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชนก็กลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่
บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงข้าม กฎหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรี
และอยู่ได้ด้วยความสงบ บางทีเราตั้งกฎหมายขึ้นมาก็ด้วยวิชาการซึ่งได้มาจากต่างประเทศ เพราะ
ว่าวิชากฎหมายนี้ก็เป็นวิชาที่กว้างขวาง จึงต้องมีหลักอะไรอย่างหนึ่ง แต่วิชาการนั้นอาจไม่เหมาะสม
กับสถานการณ์หรือท้องที่ของเราอย่างที่เคยยกตัวอย่างมาเกี่ยวข้องกับที่ดิน เกี่ยวข้องกับการทำ
มาหากินของประชาชนที่อยู่ห่างไกล ซึ่งเราเอากฎหมายไปบังคับประชาชนเหล่านั้นก็ไม่ได้ เพราะ
ว่าเป็นความผิดของเราเอง เพราะการปกครองไม่ถึงประชาชนที่อยู่ห่างไกล จึงไม่สามารถที่จะ
ทราบถึงกฎหมาย ความบกพร่องก็อยู่ทางฝ่ายที่บังคับกฎหมายมากกว่าฝ่ายที่จะถูกบังคับ ข้อนี้
ควรจะถือเป็นหลักเหมือนกัน ฉะนั้น ต้องหาวิธีที่จะปฏิบัติกฎหมายให้ถูกต้องตามหลักของธรรมชาติ
มีข้อกฎหมายเฉพาะอย่างหนึ่งที่ได้เคยประสบ อันนี้ก็เป็นกรณีเฉพาะ แต่ก็ขอมาเล่าให้ฟัง และถือว่า
เป็นข้ออย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาอย่างยิ่ง ก็เกี่ยวข้องกับที่ดินอีก และเกี่ยวข้องกับผู้ที่อยู่ห่างไกล เช่น
ในป่าสงวนซึ่งทางราชการได้ขีดเส้นไว้ว่าเป็นป่าสงวนหรือป่าจำแนก แต่ว่าเราขีดเส้นไว้ ประชาชน
ก็มีอยู่ในนั้นแล้ว เราจะเอากฎหมายป่าสงวนไปบังคับคนที่อยู่ในป่าที่ยังไม่ได้สงวน แล้วเพิ่งไป
สงวนทีหลังโดยขีดเส้นบนเศษกระดาษก็ดูชอบกลอยู่ แต่มีปัญหาเกิดขึ้น ที่เมื่อขีดเส้นแล้ว ประชาชน
ที่อยู่ในนั้นก็กลายเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎหมายไป ถ้าดูในทางกฎหมายเขาก็ฝ่าฝืน เพราะว่าตรามาเป็น
กฎหมายโดยชอบธรรม แต่ว่าถ้าตามธรรมชาติใครเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ก็ผู้ที่ขีดเส้นนั่นเอง เพราะ
ว่าบุคคลที่อยู่ในป่านั้นเขาอยู่ก่อน เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์ หมายความว่าทางราชการบุกรุก
บุคคล ไม่ใช่บุคคลบุกรุกกฎหมายบ้านเมือง ข้อนี้ก็เป็นปัญหาและเกิดวุ่นวายขึ้นมาหลายครั้ง เมื่อ
ได้ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกในป่าสงวน และข้อนี้ก็เคยพูดมาแล้ว อาจฉงนว่าทำไมมาพูดอีก ก็เพราะว่า
มีความคิดไปอีกขั้นหนึ่ง บุคคลเหล่านั้นผิดกฎหมายบ้านเมือง เมื่อป่าสงวนนั้นทางราชการเปิดให้
เป็นป่าเปิด จับจองได้ แต่บุคคลที่อยู่ในนั้นกลับเป็นผู้บุกรุกที่เจ้าของ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์อยู่
เพราะว่าเมื่อเปิดแล้ว ผู้ที่อยู่ในป่าและปฏิบัติดำเนินชีวิตอย่างธรรมดาควรจะมีสิทธิ์ในที่นั้น แต่
กลับมาเป็นผู้บุกรุก บุกรุกที่ดินที่มีเจ้าของนี่ก็เพราะเหตุว่าเมื่อป่าสงวนนั้นเปิดออกมาเป็นป่าเปิด
ก็มีผู้ไปจับจองทำกิน ผู้ที่ไปจับจองก็ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะไปที่อำเภอแล้วก็ไปขอจอง ผู้ที่
เป็นเจ้าของที่ไปจับจองไว้ก็ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไปขับไล่คนที่อยู่ในนั้น คนที่อยู่ในนั้นเดิมก็กลับ
เป็นจำเลยอีก เป็นจำเลยในกรณีบุกรุกที่ของคนอื่น อันนี้เห็นว่าไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง และกฎหมายที่
มีอยู่เรื่องการจองที่ก็มีว่า ทุกคนสามารถที่จะไปจองที่ที่ว่างเปล่าหรือที่ว่างเปล่าที่ไม่หวงห้าม แต่ว่า
ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน เรื่องนี้ก็พยายามที่จะบอกให้เจ้าหน้าที่ทราบ หมายถึงเจ้าหน้าที่ปกครองว่า
น่าจะมีทางหนึ่ง ถ้าเราเปิดป่าที่เป็นป่าสงวนหรือป่าจำแนก ป่าอะไรที่ไม่ให้ประชาชนเข้าไป ควรที่
จะห้ามไม่ให้จับจอง หรือห้ามไม่ให้จับจองเป็นระยะเวลา ๑ ปี มีกำหนดบ้าง นี่ก็เป็นเพราะกฎหมาย
ซึ่งต้องปรับปรุง ถ้าเราทำเช่นนั้นก็สามารถที่จะป้องกันไม่ให้พวกที่ไปจดชื่อเอาไว้จัดการเปิดคล้าย ๆ
ไปตั้งคิดอยู่ก่อนที่จะเปิด ผู้ที่ไปจับจองในลักษณะนั้นโดยมากก็รู้ล่วงหน้า ซึ่งก็ไม่ยุติธรรมอยู่แล้ว
รู้ล่วงหน้าว่าจะเปิดป่านั้นไม่ให้เป็นป่าสงวน ก็ไปเซ็นชื่อหรือไปจองที่จะจอง ควรจะห้ามไม่ให้เป็น
เช่นนั้น แล้วก็ถ้าเปิดออกมาก็น่าจะเป็นที่ที่ทางราชการหรือทางจังหวัด ขั้นจังหวัดก็ได้เป็นผู้ที่จะ
จัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชนที่ไม่มีที่ดินอยู่ หรือแก่ประชาชนที่อยู่ในนั้นแล้ว แล้วจัดสรรที่ดินให้ทำ
มาหากินโดยสุจริต จะแก้ปัญหาความวุ่นวาย แม้ปัญหาก่อการร้ายก็จะขจัดไปด้วย ฉะนั้น ก็ต้องมี
การวิจัยหรือมีการแก้ไขกฎหมายบางส่วน ซึ่งอาจบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของคณะนิติศาสตร์ที่จะแก้ไข
กฎหมายว่าถูกต้อง ต้องเป็นเรื่องของทางสภานิติบัญญัติที่จะแก้กฎหมาย แต่ว่าถ้าสภานิติบัญญัติ
ซึ่งถ้าตามปรกติจะประกอบด้วยผู้แทนราษฎร ผู้แทนราษฎรนั้นอาจมีนักกฎหมายบ้าง แต่ส่วนมาก
ก็เป็นผู้ที่เป็นผู้แทนราษฎรอาชีพคือเป็นผู้ที่ไปลงหาเสียง แล้วก็ไปเข้าในสภาสังกัดพรรคการเมือง
ไม่ได้เป็นนักวิชาการแท้จะต้องอาศัยนักวิชาการ หมายถึงผู้ที่ศึกษากฎหมายโดยแท้ ถ้านักกฎหมายที่
ศึกษาในทางกฎหมายโดยแท้ไม่ได้สนใจในปัญหาที่แท้จริงมัวแต่ดูเพียงทางทฤษฎีของกฎหมายก็
จะไม่เกิดประโยชน์ได้ แต่ถ้านักกฎหมายหรือที่สนใจกฎหมายได้ไปดูข้อเท็จจริงต่าง ๆ กฎหมายจะ
ช่วยให้บ้านเมืองมีความเรียบร้อยก็จะทำให้ช่วยทางสภานิติบัญญัติชี้ทางให้สภานิติบัญญัติว่าควร
จะปรับปรุงกฎหมายที่ตรงไหน
ที่เล่าให้ฟังเพราะว่าได้ไปประสบปัญหานี้ มีความเดือดร้อนอย่างยิ่งว่าประชาชนในเมืองไทย
จะไร้ที่ดิน และถ้าไร้ที่ดินแล้วก็จะทำงานเป็นทาสเขา ซึ่งเราไม่ปรารถนาที่จะให้ประชาชนเป็น
ทาสคนอื่น ในเมืองไทยนี้ที่ผ่านมาประชาชนแต่ละคนเป็นไทแท้ คือมีที่อยู่อาศัย มีอาชีพที่เป็น
เอกเทศที่จะเลี้ยงตัวได้ แต่เวลานี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่ากลัว คือประชาชนกำลังจะเป็นทาสที่ดิน
ให้มีนายทุนมากด กดหัว ซึ่งข้อนี้ก็น่าคิดอยู่ เพราะว่าเมืองไทยซึ่งเคยโดนประณามจากคนบาง
ส่วนว่าเป็นระบบศักดินาจักรวรรดิ์นิยม แท้จริงไทยแท้ของเราอาจมีศักดินา แต่ศักดินาไม่ได้หมาย
ถึงอย่างที่เขาตีความหมาย คือการกดหัว เรามีระบบว่าแต่ละคนมีที่ดินของตัว แต่ละคนมีที่อยู่
อาศัยของตัว มาเดี๋ยวนี้จะกลายเป็นระบบที่เขาประณาม คือระบบแบบสมัยกลางในยุโรป ซึ่งเป็น
ระบบที่กดหัวต่อ ๆ กันมา จนกระทั่งใครที่จะแย่ ก็คือคนที่อยู่ติดแผ่นดิน ที่ได้บัญญัติศัพท์ไว้ว่าเป็น
หนอนแผ่นดิน ได้เห็นมาว่า คนที่เคยทำงานในที่ที่ตัวเห็นเป็นของตัวกลายเป็นหนอนติดแผ่นดินเพราะ
ว่าความคับแค้น ความลำบาก แท้จริงตัวเคยทำงานในที่ที่เป็นของตัว หรือเป็นของตัวได้แต่ว่ามี
นายทุนมาขอซื้อที่ดินจึงขาย เพราะว่านึกว่าเงินนั้นจะดี เงินนั้นจะนำความสุขมาให้แก่ตัวแท้จริง
เมื่อเงินหมดไปแล้วก็ต้องรับจ้างเขา รับจ้างเขาในราคาถูก และกลายเป็นทาสเขาในที่สุด แต่ถ้าเรา
สามารถที่จะขจัดปัญหานี้ โดยเอาที่ดินจำแนกนี้มาจัดสรรอย่างยุติธรรม อย่างที่มีการตั้งจะเรียกว่า
นิคม หรือจะเรียกว่าหมู่หรือกลุ่มหรือสหกรณ์ก็ตาม ก็จะทำให้คนมีชีวิตที่แร้นแค้น สามารถที่จะ
พัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ แต่ต้องอาศัยกฎหมาย อาศัยระเบียบการที่เหมาะสม และอาจต้องปรับปรุง
กฎหมายและระเบียบการให้ดี ฉะนั้นก็ขอฝากความคิดแก่ท่านทั้งหลาย ทั้งอาจารย์ ทั้งนิสิตว่ามี
ปัญหาในทางกฎหมายหลายด้าน ทั้งในด้านปฏิบัติกฎหมายซึ่งจำเป็นต้องบริการประชาชน ชี้แจง
ให้ทราบถึงกฎหมาย แล้วก็ชี้แจงให้บริการในทางช่วยเหลือ ทั้งมีปัญหาที่จะปรับปรุงกฎหมาย ไม่ใช่
ปฏิวัติ แต่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ กับท้องที่ กับบ้านเมืองของเรา สมมุติว่าเราเริ่มย้ายคน
ถึงเวลาเริ่มย้ายคน ก็บอกว่าครอบครัวที่อยู่ในเขตที่เรากำลังทำงานนี้ มีเท่านี้ครอบครัว แล้วก็คนที่
อยู่ในเขตนี้ไปอยู่ไหน แล้วให้หนังสือพิมพ์เห็นว่าไปอยู่ที่ไหน อยู่ที่เขาหาให้ ที่ที่ทำให้คนอื่นเขาอยู่
ตลอดได้… จะทำให้บ้านเมืองของเรามีความสามารถที่จะรักษาความดี รักษาความเป็นปึกแผ่น
รักษาความเป็นเองของประชาชน ก็ไม่จำเป็นที่จะเป็นทาสของความคิด ซึ่งเราอาจนึกว่าสมัยใหม่
ถ้าเราคิดอะไรออกให้อยู่เย็นเป็นสุขแล้ว นั่นน่ะสมัยใหม่พอแล้ว ก็ขอฝากความคิดเหล่านี้แล้วก็จะ
เป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ก็ขอให้ประสบความสำเร็จในความคิดต่าง ๆ ที่มี ที่ดีที่งาม และผู้ที่
ศึกษาก็ขอให้สำเร็จการศึกษาโดยดีที่สุด เพื่อที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง
และส่วนรวม ขอจงประสบแต่ความดีความงาม ความเจริญทุกประการ
พระราชดำรัส
พระราชทานแก่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันเสาร์ ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๐
---------------------------------
สภาร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะร่างรัฐธรรมนูญ. ซึ่งในระยะก่อนนี้ก็เคยมีเหมือนกัน
แต่สภานี้ได้มีการตั้งด้วยวิธีการที่ไม่เคยมีมาก่อน และทุก ๆ ท่านก็เป็นผู้ที่ได้อาสาเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ
อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ. การที่ท่านได้อาสา และท่านเป็นผู้ที่เป็นกลาง หมายถึงไม่ได้
สังกัดพรรคการเมืองใด ๆ ก็เชื่อว่าท่านจะมีความสามารถที่จะร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ได้อย่างดี.
การร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นงานที่ไม่ใช่ง่าย แต่ไม่ใช่ยาก สำคัญอยู่ที่แต่ละท่านจะต้องได้
ศึกษา ว่าในโลกนี้มีรัฐธรรมนูญหลากหลาย ซึ่งบางฉบับก็สั้นบางฉบับก็ยาว เป็นเหมือนหนังสือ
เป็นปึกใหญ่. ปัญหาอยู่ที่ว่าท่านจะตัดสินที่จะสร้าง หรือร่างรัฐธรรมนูญให้ยาวหรือสั้น. แต่เข้าใจว่า
ถ้ามีข้อความมากเกินไป จะลำบากในการที่จะสร้างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม เพราะความจริง
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่เป็นแม่บท หรือเป็นกฎหมายที่วางระเบียบกว้าง ๆ สำหรับที่จะปกครอง
ประเทศ. นอกจากนั้น ก็ควรจะมีการร่างกฎหมายที่เขาเรียกกันว่า “กฎหมายลูก” ง่ายกว่าที่จะเอา
กฎหมาย “ทั้งแม่ทั้งลูก” อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน เพราะว่าการแก้ไขจะลำบาก. ส่วนการแก้ไขนั้น
แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ควรจะลำบากเกินไป เพราะว่าโลกก็เจริญ หรือวิวัฒนาการไปเรื่อย จะต้องให้
รัฐธรรมนูญนี้สามารถที่จะใช้ในโอกาสทุกโอกาส. ฉะนั้น ข้อสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญก็คือ
จะต้องคล่องตัว.
นอกจากนี้มีสิ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องให้สามารถที่จะร่างกฎหมายที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
นี้โดยง่ายและไม่มีปัญหากำกวม. ฉะนั้นการสร้างหรือการร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะต้องมีความสำคัญ
อยู่ที่ให้แจ่มแจ้ง. การร่างรัฐธรรมนูญนี้มีความลำบากอยู่ อย่างหนึ่งคือ จะต้องสรรหาคำที่เหมาะสม
ที่ไม่กำกวม ลงในกฎหมายที่ไม่เยิ่นเย้อ. แต่ละท่านผู้มีความรู้มีอยู่ ๙๘ คน ตามหลักควรจะมี
๙๙ คน แต่เดี๋ยวนี้ท่านมี ๙๘ คน ก็จะต้องพยายามที่จะพูดกันเพื่อที่จะเลือกสรรคำเหล่านี้ให้
เหมาะสม. มิใช่จะให้ตกลงกันง่ายเกินไป แต่ไม่ใช่ให้ตกลงยากเกินไป เพราะว่าท่านมีเวลาจำกัด.
ที่ได้พูดอย่างนี้ก็เป็นการพูดแบบคร่าว ๆ และรวม ๆ. เข้าใจว่าท่านทั้งหลายจะมีความสามารถที่จะ
ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญที่จะใช้งานได้.
ในการนี้ก็ขอให้ท่านทุกคนมีความสามารถ และมีความตั้งอกตั้งใจที่แน่วแน่และสามารถที่
จะปรองดองกัน หาคำที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญนี้ด้วยดี. การนี้ก็ขอให้ท่านถึงพร้อมด้วยกำลังกาย
กำลังปัญญา ที่จะปฏิบัติงานที่ให้เป็นผลสำเร็จ. ก็ขอให้ทุก ๆ ท่านจงประสบแต่ความเจริญและ
ความสำเร็จในการนี้.
-------------------------------------------------
พระราชดำรัส
ในโอกาสให้ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำกระทรวงเฝ้าฯ
เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล
วันจันทร์ ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓
------------------------------------------
การที่ผู้พิพากษาจะต้องกล่าวคำปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่เป็นครั้งแรกนั้นมีความสำคัญ
อย่างยิ่ง นอกจากหน้าที่ผู้พิพากษาโดยตรง ยังมีหน้าที่อื่น ๆ อีกมาก และโดยเฉพาะในวรรค
สุดท้ายหรือส่วนสุดท้ายของคำปฏิญาณนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก. เพราะว่าจะต้องปฏิบัติตนให้
ถูกต้อง และเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยตามที่มีรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
คุ้มครองประชาชน. ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญจะต้องปฏิบัติทั้งในโรงศาล ทั้งนอกโรงศาล.
ปัจจุบันนี้มีปัญหาทางกฎหมายมากหลาย แต่ละคนจะต้องใช้ความรู้ที่ได้เรียนและความรู้
ที่คิดเองด้วย มาปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้. คือเกิดปัญหานั้น ไม่ใช่จะเข้าโรงศาลเป็น
ปัญหาที่คนเขาอยากจะปฏิบัติตนให้ดี ให้สามารถที่จะรักษาประเทศชาติให้มีความสุขความสงบ.
แต่ว่าปัญหานี้ จะแก้ด้วยกฎหมายก็ยากเต็มที เพราะกฎหมายขัดกัน. โดยมากมีปัญหาแล้ว
ก็บอกว่า ถ้าขัดกัน หรือขัดกับกฎหมายที่สูงกว่า ก็ต้องใช้กฎหมายที่สูงกว่า เช่นที่บอกว่าถ้าไม่มี
อะไร ไม่มีคำตอบ ก็ให้ไปหาในรัฐธรรมนูญ. แต่ในรัฐธรรมนูญเอง ก็คงทราบว่ามีปัญหาที่
ขัดกันเอง. รัฐธรรมนูญขัดขาตัวเอง. ฉะนั้น จะทำยังไง. ก็จะต้องให้ผู้มีความรู้ และมีความสามารถ
คิดด้วยสามัญสำนึกของตัวเองให้แก้ไขได้.
ตอนนี้จะยกตัวอย่างของตัวเอง แต่ว่าอย่าไปเครียดเกินไป. ของตัวเองเกิดปัญหา เพราะว่า
ตัวเองเป็นคนไทยคนหนึ่ง ก็จะต้องมีหน้าที่ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่มีคนเขาบอกมาว่า พระมหา
กษัตริย์นั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกตั้ง. อันนี้ขัดกัน เพราะว่าบุคคล พระมหากษัตริย์ก็เป็นบุคคล
เป็นคนไทย จะไม่ไปเลือกตั้งก็จะถูกตำหนิและจะใช้คำว่าจะถูกขึ้นป้ายว่าไม่มีสิทธิ์ คือตัดสิทธิ์.
ข้อนี้พูดอย่างนี้คงทำให้ท่านทั้งหลายทุกคน รวมทั้งท่านประธานศาลฎีกาด้วย ปวดหัว และเครียด.
แต่ก็ขออย่าให้เครียด เพราะว่าเป็นพระมหากษัตริย์นั้นจะต้องสละหมด แม้จะสิทธิ์อะไรก็สละได้.
อันนี้พูดไว้สำหรับให้เห็นว่า แต่ละคนมีปัญหา และบางทีปัญหานั้นเป็นปัญหาโลกแตก. แต่ละท่าน
ก็มีปัญหา ซึ่งจะเป็นปัญหาโลกแตกเหมือนกัน. แต่ว่าถ้าแต่ละคนใช้สามัญสำนึก และพยายามทำ
เพื่อให้หน้าที่ของตนในฐานะ อย่างท่านทั้งหลายในฐานะผู้พิพากษาบรรลุไปอย่างดีที่สุด และ
นอกหน้าที่ก็ในฐานะเป็นคนไทย ในฐานะเป็นมนุษย์ ให้ทำอะไร ที่ดีที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อ
ชาติบ้านเมืองและเพื่อนมนุษย์ ให้ผ่านพ้นไปได้ดีที่สุด. อันนี้จะไม่บอก ไม่พูดอะไรเป็นเจาะจงว่า
ควรจะทำอย่างไร. ไปค้นหาในสมองของตน ค้นหาในจิตใจของตนว่า อะไรดี.
เคยพูดถึงว่า คำว่า ดี นี่ไม่รู้แปลว่าอะไร. คนเขาบอกว่าดี คืออะไรที่ไม่ชั่ว แล้วถามว่า
อะไรชั่ว ก็คืออะไรที่ไม่ดี. ไม่มีทางที่จะตอบได้สั้น ๆ ว่าความดีคืออะไร แต่ว่าแต่ละคนจะต้อง
พิจารณาอยู่เสมอ ถ้าทำตามคำปฏิญาณที่ได้เปล่งมาเมื่อสักครู่นี้ ก็เป็นการทำดี และถ้าทำดี
อย่างนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อเพื่อนร่วมชาติ. ฉะนั้น ก็ขอให้
ท่านพิจารณาดี ๆ ในคำปฏิญาณของท่าน และพยายามทำให้ครบถ้วนที่สุด เพื่อให้ได้ชื่อว่าทำดี
ทำสิ่งที่เหมาะสม และเป็นคนที่เป็นประโยชน์.
ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายมีกำลังใจ กำลังกาย กำลังความสามารถ กำลังจิตใจที่ซื่ อสัตย์
สุจริต เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานการตามหน้าที่ และนอกหน้าที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
และในเวลาเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อส่วนตัวของตัวเอง. ขอให้ทุกคนประสบความเจริญรุ่งเรือง
ความสำเร็จ และความสุขทุกประการ.


ทีนำมาลงเพราะมีอะไรดีๆเพื่อตน เพื่อบ้าน เพื่อประเทศ ขอให้เราช่วยๆกันทำตามแล้วทุกอย่างย่อมประสบสุขด้วยกันทุกๆฝ่าย

พ่อทำงานเพื่อเรามานาน



เพื่อพ่อของแผ่นดิน เพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพลงนี้ ขับร้องโดย โน้ต-สมัชญ์พล ศรีชลวัฒนา นักร้องนำที่เคยฝากผลงานในอัลบั้ม STEP ของค่ายอาร์เอสเมื่อปี 2549

โดยมี ยอด-วิวัธน์ จิโรจน์กุล เจ้าของเว็บไซต์ซังกะบ๊วยด็อทคอม เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง-ทำนอง และมี เอสนะ อยู่เจริญ คนทำเพลงเป็นผู้เรียบเรียง รวมทั้ง เฉลิม พล ปัญจเทพ หรือ PJ Soft เป็น Sound Engineer

เนื่องใน วโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคมปีนี้ ขออนุญาตนำเพลงที่ชื่อว่า “เพื่อพ่อของแผ่นดิน” มาให้คุณผู้อ่านได้รับชมรับฟังกัน ซึ่งจากเนื้อร้องแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์ของคนรุ่นใหม่ และจะเดินตามรอยพระยุคลบาท รักษาชาติบ้านเมืองเพื่อแทนคุณแผ่นดิน

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะฯ

เพื่อพ่อของแผ่นดิน

บนผืนแผ่นดิน แห่งนี้ ที่มีให้ลูกได้เติบโตและอาศัย
นี่แหล่ะคือผืนดินไทย ที่บรรพชนร่วมใจปกป้องกันมา
ที่ซึ่งมีองค์พระราชา
ผู้เปี่ยมล้นด้วย พระเมตตา

กว่า 60 ปี ที่พ่อเดินทาง ดับทุกข์ของปวงประชา
เหน็ด เหนื่อยเพียงใด ที่ทรงแบกไทยทั้งชาติให้ไปข้างหน้า
ลูกซาบซึ้งในพระเมตตา
ลูก จะทดแทนคุณด้วยสัญญา

จะรักษาผืนดินไทยไว้ให้นาน
หากแม้นมีใครคิด มาทำลาย ไม่มีทาง
จะน้อมรับทุกคำที่ทรงสอนสั่ง
เป็นลูกที่ดีของ พระองค์ท่าน ตลอดกาล
จะเอาชีวิต ปกป้องพระองค์จากเหล่าศัตรู
จะแลก ด้วยเลือดและเนื้อ ผองไทยยอมพลี เพื่อพ่อของแผ่นดิน

กว่า 60 ปี ที่พ่อเดินทาง ดับทุกข์ของปวงประชา
เหน็ดเหนื่อยเพียงใด ที่ทรงแบกไทยทั้งชาติให้ไปข้างหน้า
ลูกซาบซึ้งในพระเมตตา
ลูกจะทดแทน คุณด้วยสัญญา

ทุกย่างก้าวที่พ่อเดิน
ลูกจะนบน้อมทดแทนคุณด้วย หัวใจ

จะรักษาผืนดินไทยไว้ให้นาน
หากแม้นมีใครคิดมาทำลาย ไม่มีทาง
จะน้อมรับทุกคำที่ทรงสอนสั่ง
เป็นลูกที่ดีของพระองค์ท่าน ตลอดกาล
จะเอาชีวิต ปกป้องพระองค์จากเหล่าศัตรู
จะแลกด้วยเลือดและ เนื้อ ผองไทยยอมพลี เพื่อพ่อของแผ่นดิน

ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Manager Online - ภาคใต้

Manager Online - ภาคกลาง-ตะวันออก

Manager Online - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Manager Online - ภาคเหนือ

คันฉ่องนกไฟ

ผู้ติดตาม

http://hi5.com/friend/displayLoggedinHome.do