วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

น.พ.อุดม เกียรติวิชญ์

น.พ.อุดม เกียรติวิชญ์ แพทย์ชนบท

พื้นฐานชีวิตสร้างอีคิว
กิดกรุงเทพฯ พ่อเป็นคนจีน แซ่ลิ้ม มาจากเมืองจีน แม่เป็นจีนที่เกิดในเมืองไทย ครอบครัวยากจน พ่อมีอาชีพ ขับแท็กซี่ แม่เย็บผ้า มีพี่น้อง ๕ คน ผมเป็นคนกลาง พี่สาว ๒ คน เรียนจบ ป.๔ ก็ต้องออกมาช่วยแม่ เพราะที่บ้าน ขาดแรงงาน ทั้งๆ ที่พี่เรียนดี และเป็นนักเรียนทุน แต่แม่ก็ส่งต่อให้เรียนไม่ไหว และอาจเป็นวิธีคิด ของคนจีน ที่ว่า ลูกผู้หญิง ไม่ต้องเรียนสูงก็ได้

ผม รีดผ้าไม่เป็น แต่ซักผ้าเป็น ถ้าเทียบกับพี่สาวแล้ว ผมทำงานน้อยกว่า แต่ถ้าเทียบ กับเด็กคนอื่น ผมก็ทำงานเยอะกว่า พี่สาวเป็นช่างเสริมสวย มีแขกเยอะ ลูกน้องไม่พอ ก็เรียกผม มาช่วยดรายผม ให้ลูกค้า ก็รู้สึกอาย เราเป็นผู้ชายนะ หรือถ้าแขกน้อย ผมก็อยู่หลังร้าน ช่วยซักผ้า ซึ่งเป็นผ้าผืนเล็กๆ มากมาย ผมทำหมด บางทีพี่เขายุ่งมากที่หน้าร้าน ผมก็ต้องช่วยหุงข้าว และทำหน้าที่อื่น เช่น เลี้ยงน้อง ๒ คน รวมทั้ง ทำกับข้าวด้วย ผมมีสูตรเดิมประจำ คือทำไข่เจียว และต้มถั่วเขียว

เมื่อ มองเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน เขาสบาย ไม่ต้อง ทำงาน เหมือนเรา เคยรู้สึกน้อยใจ แต่ไม่มาก เพราะรอบตัว พ่อแม่พี่ๆ เขาก็ทำงานหนักทั้งนั้น ถึงแม้ เขาไม่เรียก เราก็ต้องช่วยอยู่แล้ว เคยรู้สึกอายนิดๆ เพราะคิดว่า ผมเป็นเด็ก เตรียมอุดมแล้วนะ แต่ยังต้อง พกข้าวกล่อง ไปกินที่โรงเรียน ซึ่งสมัยนั้น ไม่มีแล้ว เขากินข้าวกัน ที่โรงอาหาร

การศึกษาเสริมสร้างไอคิว
ถ้าถามว่า เรียนเก่งไหม ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ตอนอยู่ชั้น ป.๑-ป.๓ เรียนไม่รู้เรื่องเลย พอขึ้น ป.๔ เรียนดีขึ้น จบ ป.๔ สอบเข้าโรงเรียน พญาไท ได้ที่ ๓ ก็รู้ตัวว่า เราคงจะเรียนเก่ง ป.๕ ย้ายไปเรียนโรงเรียน ที่วัดธาตุทอง ถึง ป.๗ สอบได้ที่ ๑ ตลอด แต่สอบเข้า ม.๑ ร.ร.สวนกุหลาบไม่ได้ ก็รู้ว่าเราคงไม่เก่งแล้ว ม.๑-ม.๓ เรียนที่โรงเรียน เทพประสาท เป็น โรงเรียนคริสต์ เคี่ยวมาก เรียนพีชคณิต เรขาคณิต เป็นภาษาอังกฤษหมด ซึ่งตอนอยู่โรงเรียน วัดธาตุทอง ภาษาอังกฤษ ยังไม่กระดิกเลย ต้องเรียนด้วย ความพยายามอย่างสูง แต่ก็สอบได้ที่ ๑ มาตลอด ผมสอบเข้าโรงเรียน เตรียมอุดมศึกษาได้ ปีสุดท้าย ได้เรียนอยู่ห้องคิง และในที่สุด ก็สอบเข้าเรียน คณะแพทย์ที่จุฬาฯ ได้ ผมไม่ได้ คิดอะไร คงเป็นไปตามค่านิยม ของสังคม เด็กเรียนเก่ง ไม่เข้าวิศวะ ก็เข้าแพทย์ ผมเลือกแพทย์ เพราะคิดว่า เรียนจบแล้ว ไม่ตกงาน ไม่ต้องหางาน ทำงานใช้ทุนเลย

เสี้ยวหนึ่งในอดีต
ความยากจนทำ ให้ผมติดดิน ไม่ค่อยกลัวความลำบาก ที่ผ่านมาในความรู้สึกของผม ยังไม่สาหัสสากรรจ์ แม่ไม่ได้ บอกผมทั้งหมด ในตอนนั้น แต่มาเล่าให้ฟัง ตอนผมโตแล้ว ผมจึงเพิ่งรู้ว่า บางช่วง ครอบครัวเรา ต้องขอข้าว เขามากิน ผมพบความยาก ลำบากจริงๆ ตอนเข้าป่า หลังเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๑๙ มากกว่า ตอนนั้น ผมเรียนแพทย์ ปี ๕ แล้ว เราไม่รู้ว่า ชีวิตจะเป็นอย่างไร เพราะมันอยู่ระหว่าง ความเป็นกับความตาย ไม่มีข้าวกินจริงๆ เราต้องอดทนมาก มีคนถามว่า ถ้าย้อนเวลากลับไป ผมจะเลือกอย่างที่เลือก วันนั้นไหม หากมองย้อน เห็นกระบวนการ ทั้งหมดแบบนี้ ก็อาจไม่เลือก แต่ถ้าถามว่า เลือกแล้วเสียใจไหม ผมไม่รู้สึกเสียใจ เพราะ ๔ ปีในป่า เท่ากับ เป็นการเรียน อีกมหาวิทยาลัย ผมได้เรียนรู้ หลายสิ่งหลายอย่างคุ้มค่า ผมได้เรียนรู้ปรัชญา "ชีวิตคือการต่อสู้" อย่างรู้แจ้ง เห็นจริง ปรัชญาพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ผมชอบคือ "ในโลกนี้ไม่มีอะไรน่ากลัว นอกจาก ความเอาจริงเอาจัง" ผมชัดเจนมาก กับการได้รู้จัก สหายที่เป็นคนดีๆ ได้เห็นสิ่งที่คิดว่า ไม่น่าจะทำได้ แต่ความเอาจริงเอาจัง ทำอะไรก็ได้

จากโรงพยาบาลใหญ่สู่โรงพยาบาลชุมชน
ผมท็อปวิชาออ โธปีดิกส์ ตอนนั้นเป็นกระแสแพทย์เฉพาะทาง ผมจึงเลือกเรียนแพทย์กระดูก เป็นแพทย์ประจำ ที่โรงพยาบาลภูมิพล ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๔๓ ตำแหน่งสุดท้าย ได้ยศนาวาอากาศโท ต่อมาขอย้าย ออกไป อยูโรงพยาบาลชุมชน เพราะรู้สึกอิ่มตัว กับการแพทย์ในระบบ โรงพยาบาลใหญ่ๆ ผมอยากทำ ในเรื่องการแพทย์ ทางเลือก ซึ่งถ้าอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เราทำไม่ได้ เว้นแต่ ผอ.จะอนุญาต

แพทย์ทางเลือกน่าสนใจ
ผมประสบกับตัว เอง ช่วงปี ๓๔ ผมเป็น ผอ.โรงพยาบาลกองบิน ๒ ลพบุรี ผมไปกระโดดร่ม มันเป็นความใฝ่ฝัน ในวัยเด็ก อยากเป็นทหาร และอยากกระโดดร่ม เมื่อมีโอกาส ผมจึงขอไปฝึกกระโดดร่ม เขาก็จัดหลักสูตรให้ ฝึกประมาณเดือนครึ่ง ก็โดดร่มได้ แต่ครั้งที่ ๓ เกิดอุบัติเหตุ เพราะลมแรง ผมตกลงมา ทำให้กระดูกสันหลังหัก พอทำ X-RAY คอมพิวเตอร์ พบว่ากระดูกชิ้นหนึ่ง มันเลื่อนเข้าไป ในช่องกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นที่อยู่ ของไขสันหลัง และประสาทไขสันหลัง ทำให้พื้นที่จากเดิม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ โชคดีที่ไม่เป็นอัมพาต และถึงแม้ ไม่เป็นอัมพาต แต่เงื่อนไข ตามตำรากล่าวไว้ ถ้าช่องกระดูกสันหลัง แคบอย่างนี้ และทรุดลงอย่างนี้ มันจะไม่มั่นคง และจะมีปัญหา ในอนาคต เรื่องการปวดเรื้อรัง และการกดทับเส้น ประสาท เพราะฉะนั้น ควรผ่าตัด แต่ผมไม่อยากผ่า เพราะคิดว่า เราไม่เป็นอัมพาต ก็โชคดีแล้ว ถ้าผ่าตัด เกิดทำไม่ดี อาจทำให้เป็นอัมพาตได้ ผมจึงตัดสินใจไม่ทำ แต่เมื่อเสียงแพทย์อาวุโส ส่วนใหญ่เห็นควรผ่าตัด เราจะทำอย่างไร ผมให้เพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหมอ กระดูกเหมือนกัน และเขาก็ไม่เห็นด้วย กับการผ่า วิ่งล็อบบี้อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านกระดูกทั้งที่ ร.พ.ศิริราช และ ร.พ.ราชวิถี พอดีอาจารย์ทั้งสองท่านนั้น ก็เห็นด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด และรักษาโดย เข้าเฝือก อยู่หนึ่งเดือน หลังจากถอดเฝือก ก็ใช้วิธีกายภาพบำบัด และออกกำลังกาย สุดท้าย ทุกอย่างก็ดีขึ้น นี่เป็นจุดหนึ่ง ที่ทำให้ผมมองเห็นว่า ตำราก็อาจไม่ถูก ทั้งหมดเหมือนกัน

หลัง จากนั้นอีก ๑ ปี ผมมีโอกาส วิ่งมาราธอน ที่ประเทศ เยอรมัน ก็วิ่งได้ ขี่จักรยานได้ แต่รู้สึกคล้ายกับว่า ความยืดหยุ่นของหลัง ยังไม่ดี ก้มหลังไม่ได้มาก กลับจากเยอรมัน ผมฝึกโยคะ อยู่ช่วงหนึ่ง ช่วยทำให้ร่างกาย ยืดหยุ่นดีขึ้น และก้มหลัง ทำโยคะได้ จริงๆ แล้ว ผมชอบออกกำลังกาย ไม่ชอบใช้ยา จึงยิ่งทำให้หันมาสนใจ แพทย์ทางเลือกมากขึ้น สาเหตุ ที่เป็นตัวกระตุ้นมากๆ ก็คือ เราไม่ต้องผ่าตัด แต่รักษาด้วยการ ออกกำลังกายล้วนๆ ไม่ต้องใช้ยา มันก็ดีขึ้นอย่างชัดเจน จากวันนั้นถึงวันนี้ วันนี้ผ่านมาสิบปีแล้ว สุขภาพผมยังถือว่าดี แม้จะไม่เต็มร้อย สภาพเหมือนแก้วร้าว แต่แค่นี้ผมก็ว่า ดีกว่าหลายๆ คนที่ไม่เคยหลังหัก และคนที่ไม่ออก กำลังกายด้วยซ้ำ เพียงแต่ ผมต้องระวัง ในจุดอ่อนที่มีอยู่ ถ้าจะก้มต้องระวัง อย่าก้มมาก ไม่ใช่อยู่ๆ ไปก้มเก็บของปุ๊บปั๊บ หรือก้มยกของ ซึ่งในความเป็นจริง แม้แต่คนหลังดีๆ เวลาก้มก็ควรย่อเข่าลงก่อน เหมือนกัน

คำแนะนำสำหรับการแพทย์ทาง เลือกเพื่อเพิ่มความมั่นใจและศรัทธา
ธรรมชาติใน ร่างกายคนเรา พยายามรักษาตัวเองอยู่แล้ว บางคนไม่สบายไปหาหมอ หมอไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เป็นโรคอะไร ให้ยามามั่วๆ ตามอาการ เขาก็หาย หรือบางคนไม่ไปหาหมอ มันหายได้เองก็มีไม่น้อย เพราะร่างกาย มีกระบวนการ ปรับตัวของมัน ที่พร้อมจะรักษาตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่เราจัดสภาวะ ให้มันเอื้ออำนวย ก็จะหายไปได้เอง ถ้าเห็นด้วย และ เชื่อตรงนี้ ก็ไม่ต้องหาหมอ เพียงแต่เราควรหมั่นตรวจตนเองว่า อาการผิดปกตินั้น เป็นอย่างไร มีอะไร ที่เราไปฝืนอยู่ไหม มีอะไรที่เป็นพิษ ต่อร่างกายหรือไม่ หรือมีอะไร ที่ไม่เอื้อ ต่อการหายของมัน เช่น มีอะไร ผิดปกติ เกิดขึ้น เกี่ยวกับงาน ที่เราทำหรือไม่ เกี่ยวกับอาหาร ที่เรากินหรือไม่ อะไรก็ตาม ที่เข้ามาในตัวเรา เช่น อากาศหายใจ สิ่งแวดล้อม การกระทบผู้คน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เรามีอาการ ผิดปกติหรือไม่ ซึ่งถ้าคิดดีๆ เราจะรู้ดีกว่าคนอื่น หมั่นสังเกตอย่างนี้ เราจะพึ่งตัวเองได้

แต่ ถ้าไม่สบายแล้ว ต้องไปหาหมอ ที่โรงพยาบาลรัฐบาล ถามว่า มีเวลา อยู่กับหมอ กี่นาที ครึ่งชั่วโมงถึงไหม ถ้าไม่ถึง หมอจะรู้ไหมว่า คนไข้เป็นโรคอะไร บางทีไปเจอ หมอซักประวัติมั่ว ตรวจร่างกายมั่ว ให้ยาก็มั่ว หรืออาจวินิจฉัยผิด แล้วจะนำไปสู่การรักษาอย่างถูกต้อง ได้อย่างไร ถ้าวินิจฉัยผิด ตั้งแต่ต้น การรักษา ก็จะผิดพลาด ซึ่งคนที่จะวินิจฉัย ได้ถูกต้องที่สุด เพราะมีข้อมูลมากที่สุด ก็คือตัว คนไข้เอง ต่อให้เป็นแพทย์ทางเลือกที่เก่ง ก็อาจวินิจฉัยผิดได้ เนื่องจาก ข้อมูลไม่ครบ การวินิจฉัยที่ดีนั้น ต้องอาศัยประวัติ จากคนไข้เล่าให้ฟัง ถ้าคนไข้ให้ประวัติไม่ละเอียด หรือหมอเอง ไม่สามารถดึงประวัติคนไข้ ออกมาให้ละเอียด อาจเพราะ ไม่มีเวลาคุย ตัวอย่างเช่นโรคไมเกรน คุณเริ่มปวดศีรษะเวลาไหน ปวดมากขึ้นเมื่อไร เบาลงเพราะอะไร ซึ่งถ้าคนไข้ไม่สังเกต ก็จะไม่รู้ อันอาจทำให้ คำวินิจฉัย ผิดพลาดได้ เป็นต้น และหมอก็ไม่รู้ ข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญ ต่อการรักษา

คน ไข้ส่วนใหญ่คิดว่า หมอจะต้องรู้ทุกอย่าง ด้วยการตรวจ และยกหน้าที่นี้ให้หมอ ซึ่งไม่ถูกต้อง เรื่องนี้ผมขอชม นิตยสาร หมอชาวบ้าน ซึ่งเขาทำดี รณรงค์เรื่องนี้มานานหลายปีแล้ว เพื่อให้คนไข้ รู้จักวิธีดูแล สังเกตตัวเอง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับหมอ แต่ต้องพึ่งตัวเอง เมื่อมี ความผิดปกติเกิดขึ้น ในความเป็นจริง อาการต่างๆ ของโรค จะมีสัญญาณ เตือนมาก่อน แต่เราไม่ละเอียด หรือไม่ใส่ใจ ที่จะไปจับมันต่างหาก

การแพทย์ทางเลือกแบบชาวบ้านที่พึ่งตัวเองแบบผิดๆ
ในช่วงที่ผมทำ งานอยู่ใน โรงพยาบาลจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ผมพบว่า จริงๆ แล้ว เวลาเจ็บป่วย ชาวบ้านจะดูแลตัวเองก่อน ไม่ว่าจะมีโครงการ ประกันสุขภาพ ๓๐ บาท หรือ แม้แต่ จะมีบัตรรักษาฟรีก็ตาม เพราะการที่ชาวบ้าน ต้องเสียค่าเดินทาง เพื่อมาหาหมอ ที่โรงพยาบาล เขาถือว่า เป็นเงินที่มากแล้ว และต้องทิ้งงาน ในไร่นามาอีก ดังนั้น ชาวบ้านจะพยายาม พึ่งตนเองก่อน โดยวิธีพึ่งหมอ เป่ายาบ้าง พึ่งสมุนไพรบ้าง หรือใช้ยา ที่ซื้อตามรถขายยา ที่นำไปขายถึงบ้านบ้าง ประเภทเอายาไปกินก่อน จ่ายทีหลัง ยังไม่ต้องจ่ายตังค์ แต่มัดจำ ด้วยบัตรประชาชนก็มี หรือถ้าพอมีเงิน ก็ไปหาหมอสมุนไพร หรือหมอเมือง เพื่อเอายามากิน ถ้าหายก็จบ แต่ถ้าไม่หาย หรือมีอาการหนักขึ้น จึงค่อยพึ่งหมอ ในโรงพยาบาล เป็นอันดับสุดท้าย

วิธีพึ่งตนเองอย่าง ประหยัด
เท่าที่ศึกษา แพทย์ทางเลือกมาเยอะ และทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง ผมสรุปได้ว่ามีไม่กี่อย่างคือ

๑. ต้องออกกำลังกายเป็นประจำ อะไรก็ได้ที่เหมาะกับจริต ของเรา แต่ต้องเป็นการออกกำลังกาย ที่ประกอบด้วย การหายใจ ที่ถูกต้องด้วย (หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ) บางทีจะเรียกว่า ฝึกลมปราณก็ได้ นี่เป็นเรื่องจำเป็น เพราะจะเป็นประโยชน์มาก ต่อสุขภาพ

๒. กินอาหารที่เหมาะสม จะเป็นมังสวิรัติ หรือชีวจิตก็ได้ แต่หลักๆ ก็คือกินเนื้อให้น้อย ลดน้ำตาลให้น้อย และกินผักตามฤดูกาล

๓. ทำอารมณ์ให้นิ่ง โดยการศึกษาธรรมะ คิดแบบไตรลักษณ์ โดยมองทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไร แน่นอน ยั่งยืน ไม่มีอะไรเป็นของเรา ถ้าตัดได้จริง จิตจะนิ่งมาก ไม่มีอาการดีใจ เสียใจมากเกินไป ไม่ยึดติดกับอะไร มากเกินไป เมื่อไม่ยึดติดมาก ก็ไม่ทุกข์มาก

ที่ โรงพยาบาลจอมทอง เราจะเน้น การแพทย์ทางเลือก แบบง่ายๆ มีความประหยัด ตามธรรมชาติ ไม่ใช่ว่า คุณต้องเสียเงิน ซื้อเห็ดหลินจือ มากินรักษาโรค เพราะชาวบ้าน ไม่มีเงิน การแพทย์ทางเลือก ที่มีราคาแพง ผมไม่เห็นด้วย

โรงพยาบาลจอมทองแตกต่างจากที่อื่น
ผมไปอยู่ได้ปี ครึ่ง ก็พัฒนามาได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ทีเดียว วิธีการก็คือ พอคนไข้เข้ามา เราจะซักประวัติ ดูธาตุเจ้าเรือน ว่าคนไข้ธาตุอะไร เพื่อประกอบการพิจารณาว่า เขามีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อะไรมาก จะได้เป็นข้อมูล ในการรักษา ด้วยวิธีฝังเข็ม เหมือนหลักการรักษาโรค เรื่องหยินหยาง ของการแพทย์จีน ซึ่งต่อมา ก็ปรับให้เป็นไทย มากขึ้น เพราะความสมดุล ของธาตุดินน้ำลมไฟ ก็คล้ายกับ ความสมดุลของหยิน หยาง เหมือนกัน ผมจึงนำ มาใช้แทน เพื่อประกอบกับ หลักการแพทย์ ทางตะวันตก อาจจะเพิ่ม การซักประวัติ ในเรื่องอุบัติเหตุ ที่ว่าอาจทำให้ โครงสร้างร่างกาย มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีความสำคัญต่อโรค เสร็จแล้ว ก็นำเข้าสู่การวินิจฉัยโรค ซึ่งผมยังไม่ได้ วินิจฉัย แบบการแพทย์จีน หรือการแพทย์แผนไทยทีเดียว เพียงแต่นำข้อมูล มาเป็นตัวประกอบ เข้าสู่การรักษา โดยให้คนไข้ เป็นผู้เลือกวิธีรักษา บางคนที่ไม่ชอบฝังเข็ม จะไม่ฝังก็ได้ แต่ก็บอกคนไข้ว่า นี่เป็นคลินิก แพทย์ทางเลือก เพราะฉะนั้น เราจะไม่ค่อยใช้ ยาแผนปัจจุบัน นอกจากจะให้วิตามิน และใช้การรักษา โดยเริ่มด้วย การแช่เท้า ทุกคนแช่น้ำร้อน ด้วยสมุนไพร ไพล ขมิ้น เป็นหลัก ตอนแช่ก็แจกลูกประคบ คนละลูก เพื่อพึ่งตนเอง ถ้าประคบ ด้านหลังไม่ถนัด เราก็มีเจ้าหน้าที่ ช่วยประคบให้ แต่เดี๋ยวนี้ คนไข้จะผลัดกันประคบ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ดี คนไข้ได้ช่วยเหลือกันเอง เป็นวิธีง่ายๆ ตรงไหนที่รู้สึกตึง รู้สึกปวด หรือเป็นหวัด ก็อาศัยการประคบช่วยได้ ซึ่งจุดที่ประคบ ไม่ว่าจะเป็น การแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์จีน ก็ซ้อนๆ กันอยู่

หลังจาก แช่สมุนไพร และประคบเสร็จ ก็จะแยกเป็นสองสาย สายหนึ่งสำหรับคนไข้ ที่มีปัญหาเรื้อรัง ซับซ้อน ก็ให้ขึ้นเตียงประคบต่อไป ตอนนี้เราจะช่วยประคบให้ แต่ถ้าไม่เรื้อรัง เป็นโรคทั่วๆ ไป ไม่ซับซ้อน ก็เข้าไปอีกห้อง ให้คนไข้ออกกำลังกาย ซึ่งจะมีอยู่ ๓ ท่า เป็นท่ายืดขึ้นยืดลง กับท่าศพของโยคะ คนไข้ต้องทำทุกคน ไม่ว่าจะเป็น โรคอะไร ต้องทำ ๓ ท่าพื้นฐานนี้ ซึ่งจะช่วยให้ทุกส่วนของร่างกาย ได้ยืดเส้นยืดสาย เราจะสอน ในห้องนั้น จนแน่ใจว่า คนไข้ทำได้ สำหรับคนไข้ที่เข้าอีกห้อง เมื่อประคบแล้ว ก็อาจฝังเข็ม และถ้ายังมีปัญหาอื่นอีก ก็จะแนะนำ ให้เพิ่มท่า ออกกำลังกาย ที่เหมาะกับ สำหรับโรคนั้นๆ

คำ ว่า "ไม่มีเวลา" ย่อมไม่มีในพจนานุกรม ของผู้รู้คุณค่า การออกกำลังกาย
ผมชอบยก ตัวอย่าง เหมือนพ่อค้าเขียงหมูที่เขามีอาชีพแล่เนื้อหมูขาย เขาต้องคอยลับมีด เพื่อมาแล่หมู โดยไม่เคย อ้างเลยว่า ต้องรอให้ถึงเย็นนี้ จึงค่อยลับ แล้วมาแล่ใหม่ เพราะทุกครั้งที่เขาใช้ ยิ่งใช้มาก เขายิ่งต้องลับมีด ให้บ่อยขึ้น มิฉะนั้น มีดจะทื่อ แล่ไม่ได้ดี ร่างกายเราก็ต้องทำเหมือนอย่างนั้น เพราะที่เราทำงานอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็น อิริยาบถใดก็ตาม คือการใช้ร่างกายอยู่ แต่ถ้าไม่ลับ คือการไม่ออกกำลังกาย จะทำให้ร่างกาย เกิดปัญหาขึ้นได้ ส่งผลให้ ปวดเมื่อยตรงนั้น ตรงนี้ หรือทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย

ผม ไม่อยากใช้คำว่า "ออกกำลังกาย" แต่ใช้คำว่า "ลับร่างกาย" และ "ใช้ร่างกาย" ซึ่งไม่เหมือนกัน บางคนเขาอ้างว่า ไม่มีเวลา เขาคิดว่า เขาออกกำลังอยู่แล้ว เพราะเขาทำงาน ออกแรงอยู่เสมอ ทำไมต้องให้เขาออกกำลังกายอีก ผมก็บอกว่า "การออกกำลังกาย" กับ "การใช้ร่างกาย" ไม่เหมือนกันการ "ลับมีด" กับการ "ใช้มีด" ก็ไม่เหมือนกัน ถ้าใช้มีด คุณจะเฉือน หรือฟัน แต่ถ้าลับมีด คุณต้องมี เทคนิคอีกอย่าง บางคนลับมีดไม่เป็น การลับร่างกาย ก็เหมือนกัน ถ้าการงานที่เขาทำ คือต้องออกกำลัง จับจอบ จับเสียม ก็ต้องมีวิธีการ ลับร่างกายอย่างหนึ่ง การลับร่างกาย ของแต่ละคน แต่ละการงาน จึงไม่เหมือนกัน ทั่วๆ ไปอาจจะมีท่าลับปอด หัวใจเหมือนกันได้ แต่ท่าลับเฉพาะ จะแตกต่างกัน อยู่ที่ว่า คุณใช้ส่วนไหนมาก เช่น ถ้าใช้แขนขา คอหลังมาก ก็ต้องลับส่วนนั้นมาก เป็นต้น

แต่ถ้ายังอ้างว่า ไม่มีเวลา ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะพ่อค้าเขียงหมู ไม่เคยอ้างเลย มีแต่ลับมีดปุ๊บ ก็เฉือนปับ แล้วก็ลับใหม่อีก เราก็เช่นกัน ถ้าทำท่าไหนนานๆ เช่น ก้มคอเขียนหนังสือ คุณก็ต้องยืดคอ สลับกันไป ทำอย่างนี้ คอจะไม่มีปัญหา แล้วก็สามารถ ทำงานต่อได้ แต่ถ้านั่ง ทั้งวัน ๖-๗ ชั่วโมง คุณมีปัญหาแน่

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๘ มกราคม ๒๕๔๕)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Manager Online - ภาคใต้

Manager Online - ภาคกลาง-ตะวันออก

Manager Online - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Manager Online - ภาคเหนือ

คันฉ่องนกไฟ

ผู้ติดตาม

http://hi5.com/friend/displayLoggedinHome.do