มีอะไรที่ทำให้ผมคิดว่า เพราะเรารักตัวเองไม่เป็น เมื่อทำไม่ถูกต้องความเดือดร้อนย่อมตกเกิดแก่ตัว อะไรทีี่บอกว่่าเบียดเบียนตนเอง ผมลองค้นหาดูจากคำค้น"เบียดเบียนตนเอง"ได้พบอะไรอย่างงี้ครับ
การไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น
สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้
๑. จากการที่พวกเจ้าศึกษาศีลพระจักเห็นได้ว่า แม้พระอรหันต์ที่จบกิจแล้ว แม้ท่านจักได้รับยกเว้นไม่ถูกปรับอาบัติอีก แต่ท่านก็ไม่ขัดต่อศีล อันเป็นพระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติไว้ ตัวอย่างเช่น
ก) พระสารีบุตรไปฉันอาหารที่โรงทานแล้วเกิดอาพาธ (ป่วย) ขึ้นมา ประชาชนที่โรงทานรู้ ก็นิมนต์ให้ไปฉันอาหารที่โรงทานอีกเป็นวันที่ ๒ แต่ท่านไม่รับนิมนต์ เพราะผิดพุทธบัญญัติ ห้ามฉันอาหารที่โรงทานเป็นวันที่ ๒ ผู้ใดละเมิดต้องอาบัติปาจิตตีย์ ท่านยอมอดอาหาร ทั้งๆ ที่ท่านได้รับยกเว้นไม่ถูกปรับอาบัติแล้ว ท่านทำเป็นแบบอย่างที่ดีไว้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธฉันอาหาร ในโรงทานได้ประจำโดยไม่อาบัติ
ข) เรื่องหลวงปู่โต ท่านไปเทศน์ที่บางนกแขวก ขากลับนั่งเรือมา ความอ่อนเพลียกายก็หลับเลยเวลาฉันเพล พอตื่นท่านขอร้องให้คนแจวเรือกลับไปที่เก่า ตรงที่คนแจวเรือรู้ว่าเพลที่ตรงจุดไหน ท่านก็ไปฉันเพลที่จุดนั้น เรื่องนี้พระอรหันต์ท่านไม่ทำอะไรเล่นๆ ท่านใช้ปัญญา ท่านมีพรหมวิหาร ๔ เต็มและทรงตัว ท่านจึงไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ท่านรู้ว่า กายที่จิตท่านอาศัยอยู่มันหิว เป็นโรคหิวจากธาตุ ๔ มันเสื่อม กายท่านอาพาธ ท่านจึงไม่อาบัติ เพราะศีล จะขาด จะบกพร่องหรือไม่ อยู่ที่ เจตนาของใจเป็นหลักสำคัญ ทุกอย่างพึงใช้ปัญญา หรือ นิสัมมะกรณังเสยโย ก่อน ผู้ใดที่ไปวิจารณ์ท่าน หรือพูดในเชิงตำหนิท่าน แม้แต่คิดตำหนิ ผู้ตำหนิย่อมก่อกรรมอันเป็นโทษกับตนเองเป็นอย่างมาก เพราะความโง่ของตนเอง
๒. ในพุทธศาสนา พระตถาคตเจ้าสอนเหมือนกันหมด คือ ให้หมดไปจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ด้วยพรหมวิหาร ๔ โดยเฉพาะตัว เมตตา - กรุณา ๒ ข้อแรกเป็นหลักสำคัญ เพราะคนเราในการเริ่มทำความดี มีการทำทานและรักษาศีลครั้งแรก ก็เริ่มไปเบียดเบียนตนเอง แต่ในบางขณะก็ยังเผลอไปเบียดเบียนผู้อื่น กล่าวคือทั้ง ทางกาย - วาจา - ใจ เผลอกรณีใดกรณีหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นการเบียดเบียนบุคคลอื่น จัดว่าใช้หลัก สัพพะปาปัสสะอะกะระณัง นั่นเอง (ให้เว้นจากการทำบาปกรรม หรือกรรมชั่วทั้งหมด คือกาย - วาจา - ใจ)
๓. ผู้มีจิตบริสุทธิ์ถึงที่สุด หมดจากการเบียดเบียนทั้ง ๓ ระดับ คือพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นการเริ่มแรก คือ การพยายามไม่เบียดเบียนตนเองก่อน ไม่ทำกรรมทุจริตให้บังเกิดเป็นกฎของกรรม เป็นผลของกรรมเข้ามาตอบสนองตนเองในอนาคตกาล
๔. คำว่าอนาคตอย่าไปคิดว่าชาติหน้าหรือพรุ่งนี้ แค่ชั่วแห่งเสี้ยววินาทีข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึงก็เป็นอนาคต เพราะฉะนั้น พึงระมัดระวัง กาย - วาจา - ใจของตนเองไว้ให้ดีๆ จักคิด - จักพูด - จักทำสิ่งใด ให้คิดเสียก่อน หรือ นิสัมมะกรณังเสยโย เสียก่อนแล้วจึงทำ ความเบียดเบียนก็จักไม่เกิดขึ้นกับตนเอง เมื่อจิตละเอียดขึ้นไปนิดหนึ่ง ก็จักไม่เบียดเบียนบุคคลผู้อื่น
๕. อย่าทำให้คนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน แต่เรายังอยู่สุขสบาย ตัวอย่างง่ายๆ เหมือนเราเดินทางไปไหนสักแห่ง (เขาใหญ่ ภูกระดึง หาดทรายชายทะเล) อาหารที่เหลือบริโภคก็ทิ้งเรี่ยราดไปตามใจชอบ ผู้ที่อยู่ในสถานที่นั้นหรือมาทีหลังย่อมเดือดร้อน เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นไหม ทั้งนี้ไม่รวมคนรับใช้ที่ได้รับค่าจ้างเงินเดือน ตถาคตหมายถึงคนมีฐานะเสมอกันในบ้าน
๖. จุดนี้เพียงแต่อุปมาอุปไมยให้เห็นการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยปัญญา เหมือนคนจอดรถขวางปิดทางผู้อื่นสัญจร ตนเองไม่เดือดร้อน แต่คนอื่นเดือดร้อน ถ้าจิตละเอียดขึ้น พรหมวิหาร ๔ ทรงตัวดีขึ้น ก็จักเลิกเบียดเบียนผู้อื่น พอปฏิบัติตามหลักนี้นานๆ เข้า คำว่า นาน หมายถึง การศึกษาเรียนรู้คำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง มิใช่สักเพียงแต่ว่าจำแล้วนำไปทำเล่นๆ ไม่จริงจัง ก็เลยรู้ไม่จริง คนทำจริงเท่านั้นที่จักรู้จริงเห็นจริงในอริยสัจ คือเห็นทุกข์อันเกิดจากการเบียดเบียน
๗. พอจิตละเอียดถึงที่สุดแล้ว ธรรมะเบื้องสูงก็จักเกิดขึ้นกับจิตของผู้ปฏิบัติเอง เล็งเห็นโทษของการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น พยายามละพยายามตัด ความเบียดเบียนนั้นให้สิ้นซากไปด้วยปัญญา เมื่อนั้นแหละความสุขอย่างยิ่งก็จักเกิดแก่จิตของนักปฏิบัติเอง โดยไม่ต้องให้ใครมาบอก ไม่ต้องให้ใครชี้แนะนำ ธรรมของตถาคตถึงแล้วรู้เอง รู้อยู่ภายในจิตของตนนี้แหละ
ได้อ่านบางตอนจาก หนังสือ ช้อปปิ้งบุญ ของคุณขวัญ เพียงหทัย
วันนี้แพรตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่ง เพื่อลุกขึ้นมาทำกับข้าวใส่บาตรที่หน้าบ้าน อากาศยามเช้าเย็นชื่นใจ พระสงฆ์เดินอย่างสงบดูน่าเลื่อมใส แพรรู้สึกเป็นบุญที่มามีบ้านอยู่ในย่านที่มีวัดหลายวัด ทำให้มีพระออกบิณฑบาตรมาก ได้สัมผัสถึงวิถีชาวพุทธที่จะได้ทำบุญกับพระสงฆ์ในเวลาเช้า
ตักบาตรเสร็จแล้วเข้าห้องพระนั่งสวดมนต์ แล้วนั่งสมาธิประมาณ 10 นาที พอจิตใจสงบดีแล้วแพรก็นั่งคิดพิจารณาธรรมเนื่องด้วยวันวานได้ฟังเด็ก ๆ กลุ่มหนึ่งสนทนากันว่า
“ถ้าเราทำวันนี้ให้ดีที่สุด ก็น่าจะพอแล้วจริงมั้ย”
อีกคนก็บอกความเห็นของตนว่า
“คนเราถ้าไม่ทำอะไรให้เบียดเบียนตัวเอง และก็ไม่ได้ไปเบียดเบียนคนอื่น ก็น่าจะหาความสุขได้ ไม่ผิด จริงมั้ย”
อีกคนก็บอกความเห็นของตนว่า
“คนเราถ้าไม่ทำอะไรให้เบียดเบียนตัวเอง และก็ไม่ได้ไปเบียดเบียนคนอื่น ก็น่าจะหาความสุขได้ ไม่ผิด จริงมั้ย”
ในตอนแรก แพรยังนึกคำตอบไม่ค่อยออก เปิดตำราไม่ทันแต่ก็รู้สึกว่าคำสนทนาที่บังเอิญได้ยินมานั้นไม่ถูกต้องเสีย ทีเดียว วันนี้แพรจึงนั่งสมาธิเพื่อจะค่อย ๆ พิจารณาคำตอบให้กับตัวเอง คิดถึงคำสอนของอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เคยสอนไว้ว่าอย่างไร
การทำวันนี้ให้ดีที่สุด แน่นอน เป็นประโยคทองของนักพูด พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องคิดคร่ำครวญอยู่กับอดีต เพราะทำให้ทุกข์ใจ ไม่ต้องพะวงถืออนาคต เพราะจะกังวลใจ อนาคตเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้ ไม่เป็นไปอย่างใจเราวางแผนไว้ฉะนั้น ก็คือทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพราะเมื่อวันนี้ดีแล้ว พรุ่งนี้เราจะมีอดีตที่ดีด้วยโดยอัตโนมัติ
แต่ประโยคนี้ยังไม่จบใจความ ความหมายเต็ม ๆคือ
“การทำสิ่งที่ดีที่สุดของวันนี้ โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น”
“การทำสิ่งที่ดีที่สุดของวันนี้” กับ “การทำวันนี้ให้ดีที่สุด” นั้น ไม่เหมือนกัน ถ้ามีเพื่อนชวนไปกินเหล้า การทำวันนี้ให้ดีที่สุด อาจจะเป็นการไปกินเหล้ากับเพื่อนให้เมาที่สุด สนุกที่สุดก็ได้ ก็เป็นการทำวันนี้ให้ดี คือ ไม่มีอะไรเศร้าหมอง เมาให้สนุก
แต่ที่ถูกแล้ว ไม่ใช่
การทำวันนี้ให้ดีที่สุด ก็ต้องเป็นสิ่งที่ดีด้วย เมื่อเพื่อนมาชวนไปกินเหล้า คำตอบมี 2 อย่าง ไปกับไม่ไป สิ่งที่ดีคือไม่ไป แต่ถ้าทำวันนี้ให้ดี อาจจะไปหรือไม่ไปก็ได้
อันนี้ไปสอดคล้องกับประโยคที่ 2 ของเด็กกลุ่มนั้นที่ว่า “ถ้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ได้เบียดเบียนตัวเอง แล้วก็หาความสุขได้”
คนกินเหล้า แล้วมีความสุข กินด้วยเงินของตัวเอง เมาแล้วกลับไปนอนเงียบ ๆ อย่างมีความสุข มองดูแค่วันนี้ตรงนี้แล้วน่าจะเป็นการกระทำที่ปลอดภัย ใช้ได้ แต่ก็แค่วันนี้เท่านั้น
การกินเหล้านั้นผิดศีล ถ้ายกเรื่องศีลออก การกินเหล้าก็เบียดเบียนสุขภาพของตนเอง เป็นการเบียดเบียนตนเอง แม้จะโดยเต็มใจ
กรรมคือการกระทำ วิบากคือผลของกรรม ทุกกรรมที่ทำมีวิบาก นี่คือ กฎของกรรม
กินเหล้าจะผิดศีล หรือไม่ถือศีล กรรมได้สำเร็จแล้ว วิบากเกิดไปรออยู่ในอนาคต เราสร้างอนาคตเลวรอตัวเราอยู่เบื้องหน้าตรงนี้เรียกว่าเบียดเบียนตนเอง ทำให้ตัวเองต้องเดินไปพบสิ่งเลวที่สร้างไว้
ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน คำนี้พูดกันเท่ คือคำว่า เดือดร้อนในความหมายของพวกเรา คนชอบเถียง ต้องเป็นขนาดขับรถชนคนตายเสียก่อน จึงจะเรียกว่าทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ถ้าชนต้นไม้ยังไม่ถือว่าทำให้ใครเดือดร้อน
แน่ใจหรือว่าคนรอบข้างที่รักเรา ไม่มีใครสักคนที่เดือดร้อนใจ เป็นทุกข์ที่เรากินเหล้า
แล้วเงินที่กินเหล้า เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง และครอบครัวมากขึ้น น่าจะดีกว่าหรือเปล่า หรือว่าตัวใครตัวมัน
ส่วนท้ายประโยคที่ว่า "….แล้วก็หาความสุขได้" นั้น
ในเส้นทางแห่งพุทธไม่มีคำว่าสุขที่แท้จริง มีแต่ทุกข์น้อย กับ ทุกข์มาก ทุกข์น้อยก็เป็นสุขแล้ว ความสุขมีหลายระดับ ตั้งแต่ศูนย์ถึงร้อย สุขร้อยคือนิพพาน สุขเก้าสิบคืออนาคามี สุขแปดสิบคือ สกิทาคามี สุขเจ็ดสิบคือ โสดาบัน สุขหกสิบคือ กัลยาณปุถุชน สุขห้าสิบคือ คนดีปกติ สุขสี่สิบลงมาถึงศูนย์คือสุขของปุถุชนระดับที่ว่า “เมาแล้วมีความสุขดีนี่นา ทำไมว่าทุกข์ ไม่เข้าใจ พูดเรื่องอะไร” ทำนองนั้น
ระดับต่าง ๆ ที่แพรแบ่งเอง เพื่อความเข้าใจของตัวเองไม่มีในตำรา
การที่เด็กคนนั้น บอกว่า “คนเราหาความสุขได้ ไม่ผิด” นั้น ถ้าคิดแบบปุถุชนคนยินดีพอใจเวียนว่ายตายเกิดชั่วกับชั่วกัลป์อยู่ในสังสาร วัฎนี้ ก็เป็นคำพูดที่จริงอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าสำหรับคนปฏิบัติธรรมแล้วก็ไม่จริง
ในศาสนาพุทธแบ่งโลกนี้ออกเป็น 3 อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ ความหมายคือ ใด ๆ ในโลกนี้ที่ยังความเพลิดเพลิน พอใจแก่จิตใจ เรียกว่าโลภะหมด เช่นกินก๋วยเตี๋ยวใส่พริกน้ำส้มเผ็ด ๆ โอ๊ย อร่อยชะมัด ชอบ นี่เป็นโลภะแล้ว คือจัดอยู่ในหมวดเกิดความพอใจแก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางใดทางหนึ่ง
ใด ๆ ในโลกนี้ที่ยังความโกรธ ความโทมนัส เศร้า เสียใจ ร้องไห้ ศัพท์ท่านยกให้โทสะ
ส่วนโมหะ คือ ความหลงไม่รู้ตามความเป็นจริง อย่างที่เราคิดว่าสุขนี่แหละ เป็นต้น
เวลาเรามีความรัก เราคิดว่าเรามีความสุข แต่ที่จริงแล้วมันคือช็อกโกแลตสอดไส้ความทุกข์ไว้ข้างใน พอรักแล้วก็อยากให้เขาเอาใจเรา ไม่อยากให้เขาคุยกับใคร หึง หวง พอเขาหายไปก็เสียใจ พอเขาโผล่มาก็ดีใจ อารมณ์แห่งกิเลสเข้ามาขย้ำหม่ำกินหัวใจเราเข้าไปเท่าไหร่ ๆ เราก็ยังชื่นใจว่ามีความสุขจากการมีความรัก บางทีน้ำตาไหลก็ยังเดินตามเขาไปต้อยๆ หวังว่าเขาจะหันกลับมาแล้วกอดเราปลอบใจ
ความสุขของชาวพุทธ คือการเรียนให้รู้จักตัวทุกข์ รู้จักตับไตไส้พุงของโลภะ โทสะ โมหะ เพื่อจะขึ้นไปอยู่เหนือมันให้ได้ ไม่ยอมอยู่ใต้ฝ่าเท้ามัน ให้มันย่ำยีเล่น
ความสุขของชาวโลก บางครั้งดูเหมือนไม่น่าอันตรายอะไร ยกตัวอย่างเช่น การดูหนัง ฟังเพลง
ในชาดกเล่าว่า ตระกูลฟ้อนรำ ฟ้อนรำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ถึงรุ่นหลาน กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่าจะได้ไปสวรรค์ชั้นไหนเพราะให้ความสุขเพลิดเพลินแก่ ผู้ชม พระพุทธเจ้าตรัสว่าต้องไปตกนรก เพราะชาวโลกมีโลภะ โทสะ โมหะ เพลิดเพลินอยู่แล้ว ยังไปทำให้เขามัวเมาเพลิดเพลินหนักเข้าไปอีก นับว่าเป็นบาป
ในการถือศีล 5 จะไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องดูหนัง ฟังเพลง แต่ในการถือศีล 8 จะมีข้อหนึ่งที่ให้งดการดูหนัง ฟังเพลง เพราะเป็นเหตุแห่งกิเลสคือโลภะ
ทั้งนี้เพื่อเป็นการขัดเกลา ฝึกหัดตนเองให้ทวนกระแสไม่หลงใหลไปกับเสียง พัฒนาจิตใจให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนได้รับสุขอันประณีตกว่า ๆ ไม่ต้องอาศัยเสียงเพลงมาช่วยให้มีความสุข
คนที่หัดเข้ามาสู่เส้นทางธรรมใหม่ ๆ และชอบดูหนัง ฟังเพลง ก็ไม่ถึงกับต้องเบรกเอี๊ยดเลิกจนหัวคะมำ และรู้สึกสงสัยว่าห้ามความสุขไปเสียทุกอย่างแล้ว ธรรมะจะนำชีวิตที่ร่าเริงไปสู่ความเป็นตอไม้ที่เงียบงัน
ท่านให้ฝึกหัดโดยทำเคียงคู่กันไป ฟังเทปธรรมะบ้าง อ่านหนังสือธรรมะบ้าง หัดเข้าสมาธิภาวนาพุทโธอยู่กับตัวเองเงียบ ๆ บ้าง แล้วว่าง ๆ ก็ฟังเพลงไปบ้าง
แต่พอนาน ๆ เข้าจิตใจจะพัฒนาเอง มันจะเทียบเคียงของมันได้เอง รู้เอง เข้าใจเอง ว่าความสุขเมื่ออยู่กับธรรมะเป็นความสุขสงบที่สูงกว่าประณีตกว่า ทำให้การฟังเพลงจะลดลงไปเองโดยไม่รู้ตัว เพราะมันจะเริ่มมองเห็นว่า การมานั่งฟังเนื้อร้องอันคร่ำครวญหวนไห้ มีแต่เรื่องอกหักรักร้างไปตามอารมณ์ของโลกียชนนั้นเป็นการเสียเวลา จิตใจมันจะอยากอยู่กับสุขอันประณีตที่ได้รู้จักแล้วว่าธรรมะมากกว่า
ดังนั้น แพรสรุปให้ตัวเอง ควรจะเปลี่ยนประโยคแรกจาก “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด” มาเป็น “ทำสิ่งที่ดีที่สุดของวันนี้” สิ่งที่ดีที่สุดอาจจะไม่ถูกใจเช่นอดกินเหล้า แต่ก็ถูกต้อง คือไม่ผิดศีลและไม่เบียดเบียนตัวเอง และคนที่รักเรา
และประโยคที่สองที่ว่า “ถ้าเราไม่เบียดเบียนตัวเอง และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็หาความสุขได้” อันนี้ก็ต้องมองยาวไกลว่าไม่เบียดเบียนตัวเอง ทั้งในวันนี้และอนาคต ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนทั้งทางกายและใจในวันนี้และอนาคต แล้วก็หาความสุขได้โดยเป็นความสุขที่แท้จริงตามคำสอนของธรรมะ ไม่ใช่ความสุขแบบที่เราพอใจข้างเดียว ข้างกิเลสเสียด้วย คิดว่าถูกแล้ว เพราะไม่รู้ธรรมะ เป็นความสุขที่อาจจะนำเราไปสู่อบายภูมิได้
แพรรู้สึกเหมือนได้ทบทวนตำราที่เรียนมา พิจารณาแล้วก็รู้สึกดี ได้เตือนตัวเองเกี่ยวกับข้อธรรมขึ้นมาบ้าง ทำให้เช้าวันนี้เป็นเช้าที่ดีมาก ๆ อีกวันหนึ่ง
แพรก้มกราบขอบพระคุณพระรัตนตรัยด้วยความเคารพอย่างสุดซึ้ง ที่ได้สอนให้เข้าใจสิ่งดี ๆ ของโลกและชีวิต และเป็นแสงสว่างนำทางเดินไปสู่ชีวิตที่ดีงาม ทั้งวันนี้และวันหน้า.
ขวัญ เพียงหทัย เป็นใคร ?????
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ปีที่ 9 ฉบับที่ 2350 ประจำวัน อังคาร ที่ 12 สิงหาคม 2008
โดย ฐปน วันชูเพลา
??เรือนธรรม?บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ
อาคารขนาดสามคูหา เลขที่ 290/1 ถนนพิชัย เขตดุสิต ครั้งหนึ่งเคยเป็นสำนักงานของ GM GROUP สื่อแถวหน้าของไทยในกลุ่มนิตยสารที่เจาะตลาดชายหนุ่มวัยทำงาน แต่ปัจจุบันนับเวลา 5 ปีเศษที่อาคาร ?พงศ์วราภา? แห่งนี้เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ใฝ่ศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมด้วยชื่อ ?เรือนธรรม? บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ
เรือนธรรม และจีเอ็ม กรุ๊ป ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เกี่ยวดองกันเพียงชื่ออาคาร อันเป็นนามสกุลของคุณปกรณ์ พงศ์วราภา ประธานกรรมการ บริษัทจีเอ็มฯเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ก่อตั้งบ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะแห่งนี้ ยังเป็นภรรยาของนายใหญ่ค่ายจีเอ็มที่ชื่อว่า คุณพรจิตต์ พงศ์วราภา
นักอ่านหนังสือธรรมะย่อมผ่านตามาบ้างกับพ็อกเก็ตบุ๊คปกสีหวาน อ่านง่าย เพลิดเพลิน หลักธรรมถูกซึมซับเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ที่ชื่อว่า ธรรมะรอบกองไฟ, ช็อปปิ้งบุญ และธรรมะเอกเขนก ทั้งสามเล่นเป็นผลงานเขียนของ ?ขวัญ เพียงหทัย? อันเป็นนามปากกาของคุณพรจิตต์
คุณพรจิตต์เริ่มสนใจธรรมะราวปี 2533 และได้ปฏิบัติธรรมจนกระทั่งปี 2544 หรือ 11 ปีต่อมา จึงได้เขียนหนังสือธรรมะเล่มแรกชื่อ ?ธรรมะรอบกองไฟ? ด้วยเหตุผลที่ว่าพอรู้แล้วก็อยากถ่ายทอดให้คนอื่น โดยนำเสนอลักษณะเพื่อนเล่าให้เพื่อนฟัง เหมือนเวลาเข้าค่ายก็จะมีการนั่งล้อมวงรอบกองไฟ แล้วเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้เพื่อนๆฟัง เป็นธรรมะสนุกๆ ส่วนเรือนธรรมนั้นเปิดไล่หลังธรรมะรอบกองไฟไม่กี่ปี
เรือนธรรมเปิดให้บริการห้องหนังสือระหว่างวันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ เวลา 09.30-17.00 น. เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาค้นคว้าศึกษาหลักธรรมคำสอน เบิกบานในธรรม และนำมาใช้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน โดยได้รวบรวมคำสอนของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ, หลวงพ่อปัญญานันทะ, หลวงพ่อชา สุภัทโท และอาจารย์วศิน อินทสระ ไว้อย่างครบครันทั้งในรูปของหนังสือและเทป เช่น เทปคำบรรยายของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่มีมากถึงกว่าสองพันม้วน
เรือนธรรมยังจัดการอบรมธรรมะเป็นประจำสัปดาห์ละ 4 วัน...วันพฤหัสบดี เวลา 13.00-15.00 น. เป็นพระอภิธรรม โดยพระอาจารย์ทวี เกตุธมฺโม, วันศุกร์ เวลา 13.00-15.00 น. เป็นพระอภิธรรม โดยพระอาจารย์มหาบุญช่วย ปัญญาวชิโร, วันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 09.30-15.00 น. เป็นบรรยายธรรมะโดย อาจารย์บุญณัฐศักดิ์ ทวิพัฒน์ (ช่วงเช้า : จิตปรมัตถ์, ช่วงบ่าย : เจตสิกปรมัตถ์)
คอร์สอบรมสมาธิเบื้องต้น เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากของเรือนธรรม เพราะเป็นคอร์สเหมาะสำหรับผู้เริ่มใหม่ในการปฏิบัติที่ถูกต้องและไม่มีค่า ใช้จ่าย แต่ต้องสำรองที่ล่วงหน้าประมาณหนึ่งเดือน โดยจัดเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งผู้อบรมต้องเข้ามาใช้ชีวิตในเรือนธรรมตั้งแต่วันศุกร์ หนึ่งทุ่ม จนถึงวันอาทิตย์ บ่ายสี่โมง สำหรับเดือนกันยายนจะมีขึ้นในวันที่ 12-14 เป็นอบรมสมาธิเบื้องต้นระดับ 1 และวันที่ 26-28 เป็นอบรมสมาธิเบื้องต้นระดับ 2 ซึ่งจะมีทุกๆสามเดือน เปิดรับเฉพาะผู้ที่ผ่านระดับ 1 มาแล้ว
คอร์สอบรมยังมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษด้วย เพื่อรองรับผู้สนใจปฏิบัติธรรมชาวต่างชาติหรือคนไทยที่สนใจภาษาอังกฤษ อบรมโดยอาจารย์กัญญา วรเนตร ซึ่งเคยสอนอยู่ที่สวนโมกข์ แต่คอร์สอบรมอานาปานสติภาษาอังกฤษนี้จัดเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์แรกของเดือน เวลา 09.00-17.00 น. เป็นแบบเช้าไปเย็นกลับ ไม่ต้องพักค้างคืน หากสนใจก็โทรศัพท์ติดต่อกับอาจารย์กัญญาโดยตรงที่เบอร์ 08-1402-7996
กิจกรรมน่าสนใจอื่นๆที่เรือนธรรมก็มี หัวเราะเพื่อสุขภาพ โดยอาจารย์กสานติ์ วณิชชานนท์ จัดขึ้นเกือบทุกวันเสาร์ ยกเว้นเสาร์แรกของเดือน ระหว่างเวลา 10.00-12.00 น. และการฝังเข็มเพื่อสุขภาพและรักษาโรค (รักษาฟรี) โดยพลตรีนายแพทย์วิวัฒน์ ศุภดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-17.00 น. ซึ่งมีเตียงนอนฝังเข็มสบายๆ ฝังแล้วหลับไปเลย ประมาณ 20 นาทีคุณหมอก็จะดึงเข็มออก บางเดือนเห็นมีคอร์สสอนโยคะของ อาจารย์สุนทร พรหมมินทร์ด้วย
กำหนดเวลาและโปรแกรมมีการเปลี่ยนแปลงได้ ควรโทรศัพท์สอบถามก่อนที่หมายเลข 0-2244-8292 หรือเข้าไปอ่านข่าวประชาสัมพันธ์ที่เว็บไซต์ www.ruendham.com ซึ่งจะมีการอัพเดทโปรแกรมกิจกรรมทุกเดือน
ภายในเว็บไซต์เรือนธรรมยังบรรจุไฟล์หนังสือทุกเล่มของขวัญ เพียงหทัย และหนังสือธรรมะดีๆอีกหลายเล่ม เช่น หลวงพ่อชา สุภทฺโท, หลวงปู่ดูลย์ อตุโล, หลวงพ่อพุทธทาส, พระอาจารย์มานพ อุปสโม, พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช, ,พระอาจารย์อํานาจ โอภาโส และอาจารย์วศิน อินทสระ ให้เปิดอ่านฟรี รวมถึงไฟล์เสียงธรรมเทศนาของพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช นอกจากนี้ขวัญ เพียงหทัย ยังเรียนเชิญอาจารย์วศินมาตอบปัญหาธรรมะในห้องสนทนาธรรมด้วย
เรือนธรรมตั้งอยู่ริมถนนพิชัย มีรถเมล์สาย 70 ผ่าน ต้นสาย 70 อยู่ที่สนามหลวง หน้าวัดมหาธาตุ หรือขึ้นป้ายตรงข้ามหน้าธรรมศาสตร์ก็ได้ หากมาด้วยรถเมล์สายอื่นๆก็ลงที่พระบรมรูปทรงม้า แล้วต่อสาย 70 แต่ถ้าตั้งต้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ให้ขึ้นสาย 14 ที่หน้าโรงพยาบาลราชวิถี รถจะวิ่งบนถนนราชวิถี, พระราม 6 และนครไชยศรี ผ่านตลาดราชวัตร ข้ามสะพานราชวัตร วิ่งตรงสู่สี่แยกพิชัย จะลงก่อนหรือข้ามแยกไปแล้วก็ได้ หากลงก่อน ก็เดินทางไปทางขวามือของแยก เรือนธรรมอยู่ฝั่งขวามือ เลยปั๊มน้ำมันตราดาว ถ้าขับรถยนต์มาเอง สามารถจอดรถได้ทั้งสองฝั่ง
ผมชอบอันนี้
ขอให้ทุกๆคนมีความสุขครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น