วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
กฎของกรรมคืออริยสัจ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้
๑. ร่างกายมันก็ไม่ดีมาอย่างนี้ทุกๆ ชาตินั่นแหละ ตั้งแต่จุติมาจากความเป็น ปภัสสราพรหม ก็ทำบุญทำบาปกันเรื่อยๆ มา แต่กำลังของบุญมีน้อยกว่ากำลังของบาปมาก นับแสนอสงไขยกัปนับไม่ถ้วน เกิดตายๆ เวียนว่ายอยู่ในกระแสของกรรม
๒. ขึ้นชื่อว่ากรรมไม่มีใครทำ ล้วนแล้วแต่เราทำเอาไว้เองทั้งสิ้น กรรมแปลว่า การกระทำ ไม่ว่าทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทางใดทางหนึ่ง เมื่อกระทำขึ้นมาก็เป็นกรรมทั้งสิ้น ดังนั้นทุก ๆ ชาติที่ยังอัตภาพให้เกิดขึ้นมา ก็ย่อมหนีการเจ็บป่วยไปไม่พ้น เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องเสวยผลแห่งกรรมที่ตนกระทำเอาไว้นั้น ไม่มีใครหนีกฎของกรรมได้พ้น
๓. ให้เห็นธรรมดาเข้าไว้ว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของรักของชอบใจ การกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ความปรารถนาไม่สมหวังนั้น เป็นเรื่องของกฎธรรมดา ไม่มีใครที่จักหลีกเลี่ยงไปได้
๔. ให้ทุกคนยอมรับในกฎของกรรม ซึ่งย้ำอีกทีไม่มีใครทำ เราทำของเราเอาไว้เอง แม้องค์สมเด็จปัจจุบันทรงปรินิพพาน ๘๐ พรรษา เพราะกรรมปาณาติบาตฆ่า รากษกตายตอนอายุ ๘๐ ปี กฎของกรรมอันนี้ถ้าพระพุทธองค์หนี โดยใช้อิทธิบาท ๔ ครบ บารมี ๑๐ พร้อม ก็สามารถอธิษฐานกายให้อยู่ไปตลอดพุทธันดรได้ แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ทำ เพราะเคารพในกฎของกรรมที่พระองค์ทำไว้นั้น
๕. เรื่องท่านมหาโมคคัลลานะ ยอมให้โจรทุบจนร่างกายแหลก ก็เพราะท่านเคารพในกฎของกรรมเช่นกัน
๖. และ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่มีบทใดเลยที่ไม่แสดงเรื่องกฎของกรรม เพราะกฎของกรรมคืออริยสัจ กฎของกรรมคือของจริง เป็นสิ่งที่ พระอริยเจ้าทั้งหลายยอมรับ แต่มีกำลังใจยอมรับแค่ไหนนั้น ก็สุดแล้วแต่บารมีธรรมของจิต จักเจริญขึ้นมาได้แค่ไหน ทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้สำรวจอารมณ์เอาไว้ให้ดี เตือนจิตตนเข้าไว้ อย่าสร้างกรรมที่เป็นอกุศลให้เกิดเป็นทั้งกาย วาจา ใจ อีกพยายามตัดกรรมเข้าไว้
๗. ถ้าไม่รู้จักทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ มันก็ล่วงพ้นความทุกข์ไปไม่ได้ พระตถาคตเจ้าทั้งหลายสอนให้เห็นทุกข์ จักได้วางทุกข์ ปลดทุกข์ ละทุกข์เสียได้ จึงจักเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน
๘. หากพิจารณาให้ดีๆ จักเห็นได้ว่า โลกนี้ทั้งโลกมีแต่ความทุกข์ หาสุขที่แท้จริงไม่ได้เลย ให้เห็นตามความเป็นจริงอย่าให้สภาวะของจิตมันบิดเบือนความจริง เพราะตัว ธรรมล้วนๆ ไม่มีการปรุงแต่ง มันเกิด เสื่อม ดับ อยู่เป็นปกติตามหลักของ มหาสติปัฎฐาน ๔ คือ มีสติกำหนดรู้อยู่เสมอว่า กาย เวทนา จิต ธรรม ล้วนเกิดดับๆ อยู่เป็นปกติธรรม จิตของเราเป็นผู้ไปรู้ธรรมนั้นๆ ผู้ใดไปยึด ไปฝืนกฎธรรมดาเข้าก็เป็นทุกข์ จงอย่าให้จิตของเรามีอุปาทานหลอกตัวเอง ปรุงแต่งธรรม ว่าดี ว่าเลว ว่าผิด ว่าถูก มองให้ลึกๆ ลงไป มันเป็น สภาวะธรรมอยู่อย่างนั้นเป็นธรรมดา
๙. โลกทั้งโลกจึงล้วนเป็นอริยสัจ กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าจักตรัสอย่างไรอีกกี่แสนครั้ง ก็ไม่พ้นจากอริยสัจ การสอนของพระองค์มุ่งเน้นอยู่ที่อริยสัจหรือกฎของกรรมทั้งสิ้น
รวบ รวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น