วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความขัดแย้งทางความคิด สร้างสรรค์ หรือ ทำลาย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 114 พฤษภาคม 2553 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
ความขัดแย้งทางความคิด หมายถึง ทัศนคติที่ไม่ตรงกันของบุคคลในสังคม อันเนื่องมาจาก ความต้องการในจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน หรือเหตุผลที่ต่างกัน ความขัดแย้งทางความคิดเริ่มมีมาพร้อมกับพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ และมีวิวัฒนาการไปตามภูมิความรู้ในสังคม ก่อให้เกิดเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ให้ผลในเชิงสร้าง สรรค์และทำลาย

ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมตกอยู่ในอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นกิเลสที่มีอยู่ประจำในอัธยาศัย มนุษย์จึงมีความปรารถนาในชีวิตที่ต่างกัน ความต่างกันนี่เองที่เป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งทางความคิด

ด้วยความคิดที่มุ่งจะเอาชนะโดยส่วนเดียว ด้วยมุ่งหวังผลประโยชน์ของตนและหมู่คณะเป็นหลัก ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดในเชิงทำลายขึ้นในสังคม ดังกรณีการก่อสงครามขึ้นในโลก ก็เป็นส่วนที่ไม่ดีของความ ขัดแย้งทางความคิด อาจกล่าวได้ว่า วิวัฒนาการของมนุษย์ ล้วนเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางความคิด

ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา มีการพรรณนาถึงความขัดแย้ง ทางความคิดอยู่หลายแห่ง ซึ่งสามารถยุติได้ด้วยพุทโธวาท ที่พระพุทธเจ้าทรงอธิบายให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง จนมีความคิดที่ตรงกัน และน้อมนำพุทธธรรมนั้นไปเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของตนให้เกิดสุข ประโยชน์แก่ตนเองและสังคมที่อาศัย ดังที่ปรากฏใน “มงคลสูตร” ว่า

มหาชนในครานั้นได้มีความคิดเรื่องมงคลที่แตกต่างกัน และต่างก็ยึดมั่นว่ามงคลที่ตนคิดได้นั้นเป็นมงคลที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคมมนุษย์ โกลาหลไปถึงเหล่าเทวดาที่มีความคิดร่วมไปกับมนุษย์เหล่านั้น มีเทวดาตนหนึ่งได้เข้าไปทูลแจ้งความโกลาหลเรื่องมงคลนั้น แด่พระพุทธเจ้า และทูลถามถึงมงคลที่จริงแท้ในพุทธทัศนะ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงถึงมงคล ๓๘ ประการว่าเป็นมงคล อันสูงสุด เทวดานั้นก็นำไปเผยแผ่ให้เทวดาและมหาชนได้ทราบ เมื่อเขาเหล่านั้นได้ตริตรองวิเคราะห์หาเหตุและผลใน มงคล ๓๘ ประการแล้ว ความขัดแย้งทางความคิดเรื่องมงคล ก็สงบลง นำสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อมาพิเคราะห์ดูโลกในปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางความคิด ชวนให้เกิดความยินดีและความเศร้าใจ ที่ทำให้เกิดความยินดี ก็เพราะความขัดแย้งทางความคิดบางประการได้ก่อให้เกิดสิ่งที่ดีงามขึ้นใน สังคม เช่นความขัดแย้งทางความคิดทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ที่ทำให้เกิดความเศร้าใจ ก็เพราะความขัดแย้งทางความคิดบาง ประการได้ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของเพื่อนมนุษย์ไปเป็นจำนวนไม่น้อย เช่นความขัดแย้งทางความคิดทางการ เมือง เป็นต้น แม้จะมีความคิดว่านี่เป็นวิบากกรรมของ มนุษยชาติที่จักต้องประสบอยู่เสมอ แต่ก็ชวนให้แสวงหาต่อไปว่าไม่มีทางที่จะยุติความขัดแย้งเหล่านี้ได้เลยหรือ?

เมื่อค้นคว้าในพระไตรปิฎก ได้อ่านสามัญญผลสูตร ทำให้เห็นหลักการปฏิบัติของพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ควรเป็นแบบอย่างในการยุติความขัดแย้งทางความคิด จึงได้นำมาเสนอเพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้ศึกษาพิจารณาปรับประยุกต์ มาสู่การยุติความขัดแย้งทางความคิดของตน ดังนี้

สมัยพุทธกาล ในกรุงราชคฤห์มีเจ้าลัทธิใหญ่ที่ได้รับความศรัทธาจากมหาชน ๖ คนคือ ๑. ปูรณะ กัสสปะ ๒. มักขลิ โคศาล ๓. อชิตะ เกสกัมพล ๔. ปกุธะ กัจจายนะ ๕. สญชัย เวลัฏฐบุตร ๖. นิครนถ์ นาฏบุตร เจ้าลัทธิทั้ง ๖ มีทัศนคติเกี่ยวกับชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งในแต่ละทัศนคติมีผู้ยอมรับนับถืออยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นผู้มีอิทธิพล ทางความคิดของสังคมยุคนั้น

สามัญญผลสูตร เล่าไว้ว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับ ณ สวนอัมพวันของหมอชีวก โกมารภัจจ์ ใกล้พระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ เป็นวันครบ ๔ เดือน ฤดูดอกโกมุทบาน ในราตรีเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง

คืนนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูประทับอยู่ชั้นบนมหาปราสาทแวดล้อมด้วยราช อำมาตย์ พระองค์ปรารภว่า “วันนี้เรา ควรจะเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดดีหนอ ซึ่งจิตของเราผู้เข้าไปหาพึงเลื่อมใสได้” อำมาตย์ผู้เป็นศิษย์แห่งเจ้าลัทธิทั้ง ๖ ต่างทูลเชิญให้เสด็จไปหาอาจารย์ของตน แต่พระองค์ไม่ทรงยินดี เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นหมอชีวก โกมารภัจจ์ ที่นั่งนิ่งอยู่ในที่ไม่ไกล ทรงรับสั่งว่า “ชีวก ผู้สหาย เธอทำไมจึงนิ่งเสียเล่า”

หมอชีวก โกมารภัจจ์ กราบทูลว่า “ขอเดชะ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ สวนอัมพวันของข้าพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป พระเกียรติศัพท์อันงามของพระองค์ ที่ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรมดังนี้ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้าฯว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระฤทัยพึงเลื่อมใส”

พระองค์ทรงรับสั่งให้หมอชีวกไปเตรียมการเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมข้าราชบริพาร เมื่อเสด็จถึง ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ แล้วทูลถามปัญหาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศิลปศาสตร์เป็นอันมากเหล่านี้ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ ฯ พวกบุตรทาส ช่างทำขนม ช่างกัลบก พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ นักคำนวณพวกนับคะแนน (นักการบัญชี) หรือศิลปศาสตร์เป็นอันมาก แม้อย่างอื่นใดที่มีคติเหมือนอย่างนี้ คนเหล่านั้นย่อมอาศัยผลแห่งศิลปศาสตร์ที่เห็นประจักษ์เลี้ยงชีพในปัจจุบัน ด้วยผลแห่งศิลปศาสตร์นั้น เขาย่อมบำรุงตน มารดาบิดา บุตรภริยา มิตรอำมาตย์ ให้เป็นสุขอิ่มหนำสำราญ บำเพ็ญทักษิณาทานอันมีผลอย่างสูง เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน เหมือนอย่างนั้นได้บ้างหรือไม่?”

พระพุทธองค์ทรงถามว่า “มหาบพิตร ทรงจำได้หรือไม่ว่า ปัญหาข้อนี้ มหาบพิตรได้ตรัสถามสมณพราหมณ์พวกอื่นแล้ว”
พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จำได้อยู่ ปัญหาข้อนี้ หม่อมฉันได้ถามสมณพราหมณ์พวกอื่นแล้ว”

พระพุทธองค์ทรงถามต่อไปว่า “ดูกรมหาบพิตร สมณพราหมณ์เหล่านั้นพยากรณ์อย่างไร ถ้ามหาบพิตรไม่หนักพระทัย ก็ตรัสเถิด”

พระเจ้าอชาตศัตรู ตรัสว่า “หม่อมฉันเข้าไปหาครูทั้ง ๖ ถึงที่อยู่แล้วถามปัญหานี้
ครูปูรณะ กัสสป ให้คำตอบถึงการที่ทำแล้วไม่เป็นอันทำ,
ครูมักขลิ โคศาล พยากรณ์ถึงความบริสุทธิ์ด้วยการเวียนว่าย,
ครูอชิตะ เกสกัมพล ตอบถึงความขาดสูญ,
ครูปกุธะ กัจจายนะ กลับเอาเรื่องอื่นมาพยากรณ์,
ครูนิครนถ์ นาฏบุตร กลับตอบถึงสังวร ๔ ประการ
และครูสญชัย เวลัฏฐบุตร กลับตอบส่ายไป
หม่อมฉันมีความดำริว่า ไฉนคนอย่างเรา จะพึงมุ่งรุกรานสมณะหรือพราหมณ์ ผู้อยู่ในราชอาณาเขต ดังนี้ แล้วไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของครูเหล่านั้น ไม่พอใจ แต่ก็มิได้เปล่งวาจา แสดงความไม่พอใจ ไม่เชื่อถือ ไม่ใส่ใจถึงวาจานั้น ลุกจากที่นั่งหลีกไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน เหมือนอย่างนั้นได้หรือไม่ พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อาจอยู่ มหาบพิตร แต่ในข้อนี้ อาตมภาพจะขอย้อนถามมหาบพิตรก่อน โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัย สมมติว่า มหาบพิตรพึงมีบุรุษผู้เป็นทาสกรรมกรมีปกติตื่นก่อน นอนทีหลัง คอยฟังพระบัญชาว่าจะโปรดให้ทำอะไร ประพฤติถูกพระทัย กราบทูลไพเราะ คอยเฝ้าสังเกตพระพักตร์ เขาจะมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า คติของบุญ วิบากของบุญ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ความจริงพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรู พระองค์นี้เป็นมนุษย์ แม้เราก็เป็นมนุษย์ แต่พระองค์ท่านทรงเอิบอิ่มพรั่งพร้อมบำเรออยู่ด้วยเบญจกามคุณดุจเทพเจ้า ส่วนเราสิเป็นทาสรับใช้ของพระองค์ท่าน เราพึงทำบุญจะได้เป็นเหมือนพระองค์ท่าน ถ้ากระไร เราพึงปลง ผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจอยู่ สันโดษด้วยความมีเพียงอาหารและผ้าปิดกายเป็นอย่างยิ่ง ยินดียิ่งในความสงัด ถ้าพวกราชบุรุษพึงกราบทูลถึงพฤติการณ์ของเขาอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์พึงทรงทราบเถิด บุรุษผู้เป็นทาสกรรมกรของพระองค์ ออกบวชเป็นบรรพชิต มหาบพิตรจะพึงตรัสอย่างนี้เทียวหรือว่า เฮ้ยคนนั้น จงมาสำหรับข้า จงมาเป็นทาสและกรรมกรของข้า ตามเดิม”

พระเจ้าอชาตศัตรูทูลว่า “จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย พระเจ้าข้า อันที่จริงหม่อมฉันเสียอีก ควรจะไหว้เขา ควรจะลุกรับเขา ควรจะเชื้อเชิญเขาให้นั่ง ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ควรจะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม”

“มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนั้น สามัญผลที่เห็นประจักษ์จะมีหรือไม่?”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น สามัญผลที่เห็นประจักษ์มีอยู่อย่างแน่แท้”

“ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน ซึ่งอาตมภาพบัญญัติถวายมหาบพิตรเป็นข้อแรก”

ต่อมาพระพุทธองค์ทรงแสดงสันทิฏฐิกสามัญญผลเทศนา เป็นลำดับจนถึงอาสวักขยญาณ เป็นที่สุด

พระเจ้าอชาตศัตรูเมื่อได้สดับพระธรรมเทศนาจนถึงที่สุด ได้ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก หม่อมฉันนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โทษได้ครอบงำหม่อมฉัน ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด หม่อมฉันได้ปลงพระชนมชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับทราบความผิดของหม่อมฉันโดยเป็นความผิดจริง เพื่อสำรวมต่อไป”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จริง จริง ความผิดได้ครอบงำมหาบพิตรซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด มหาบพิตรได้ปลงพระชนมชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ แต่เพราะมหาบพิตร ทรงเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริงแล้ว ทรงสารภาพตามเป็นจริง ฉะนั้น อาตมภาพขอรับทราบความผิดของมหาบพิตร ก็การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง แล้วสารภาพตามเป็นจริงรับสังวรต่อไป นี้เป็นความชอบในวินัยของพระอริยเจ้าแล”

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูได้กราบทูลลากลับ ทรงเพลิดเพลินยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำประทักษิณแล้วเสด็จไป

การหยุดนิ่งไม่โต้แย้งของพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อทรงสดับแนวความคิดของครูทั้ง ๖ แม้พระองค์จะทรงมีพระดำริว่าไฉนคนอย่างเราจะพึงมุ่งรุกรานสมณะหรือพราหมณ์ ผู้อยู่ในราชอาณาเขต ดังนี้แล้วไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของ ครูเหล่านั้น ไม่พอใจ แต่ก็มิได้เปล่งวาจา แสดงความไม่พอใจ ไม่เชื่อถือ ไม่ใส่ใจถึงวาจานั้น ลุกจากที่นั่งหลีกไป นี่คือการ ยุติความขัดแย้งทางความคิดประการหนึ่ง

การยุติความขัดแย้งทางความคิดที่ถูกต้องคือ การยอม รับในความคิดที่แตกต่างกัน โดยความเคารพในสิทธิของบุคคลผู้เป็นคู่ขัดแย้ง ทุกคนที่เกิดมาบนโลกนี้ ล้วนมีคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ความคิดของบุคคลเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ควรจะต้องยอมรับ และให้เกียรติกัน เมื่อบุคคลสามารถมีทัศนคติได้เช่นนี้ ความขัดแย้งทางความคิดก็สามารถยุติลงได้

พึงระลึกไว้เสมอว่าในการแสวงหาเหตุผลที่ถูกต้องของ สรรพสิ่งบนโลกนี้ ย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดอยู่เสมอ ผลของความขัดแย้งจะเป็นไปในทางสร้างสรรค์หรือทำลาย ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลที่มีความขัดแย้งทางความคิด จะมีสติปัญญาเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตนหรือส่วนรวม ถ้าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ความขัดแย้งทางความคิดนั้นก็จะเป็นการสร้างสรรค์สุขประโยชน์ให้เกิดขึ้น ในสังคม ถ้าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ความขัดแย้งทางความคิดก็จะทำลายสุขประโยชน์ของสังคม เป็นหายนะที่สังคมไม่ต้องการ เราทุกคนล้วนมีศักยภาพในการสร้าง สรรค์หรือทำลายจากความขัดแย้งทางความคิดเสมอกันทุกคน

บัดนี้ความขัดแย้งทางความคิด กำลังเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมไทยในทุกระดับชั้นนำให้เกิดการสร้างสรรค์ และทำลายสุขประโยชน์ในสังคม ตั้งแต่ระดับครอบครัวจน ถึงระดับประเทศ ความวัฒนาสถาพรและความหายนะในประเทศไทย ล้วนเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนเป็นผู้รังสรรค์ขึ้น ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคน จักต้องมาสร้างความขัดแย้งทางความคิดในทางสร้างสรรค์ และยุติความขัดแย้งทางความคิดในทางทำลาย เราควรจะมาร่วมใจสามัคคีสร้างสรรค์ประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ความวัฒนาสถาพร เป็นสมบัติของ ลูกหลานสืบไป เหมือนดังบรรพชนได้กระทำไว้เป็นแบบอย่าง และจักได้สมกับฐานะที่เป็นพุทธสาวกอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า

อนาคตของชาติอยู่ในกำมือของคนไทยทุกคนจริงๆ
ขอให้ความขัดแย้งนี้นำปัญญามาสู่คนไทยด้วยเทอญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Manager Online - ภาคใต้

Manager Online - ภาคกลาง-ตะวันออก

Manager Online - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Manager Online - ภาคเหนือ

คันฉ่องนกไฟ

ผู้ติดตาม

http://hi5.com/friend/displayLoggedinHome.do