คนมีปัญญา ยืนหยัดมั่นคงอยู่บนผืนแผ่นดิน ฉวยจับอาวุธที่คมด้วยมือ ลับที่หินแล้วมีความเพียร ถางป่าที่รกให้เตียนไปได้ ท่านได้ให้คำอธิบาย คนมีปัญญา ไว้ว่า ปัญญาในที่นี้หมายถึง ปัญญาดั้งเดิมที่ติดตัวตนเองมาแต่อดีตชาติ ที่เรียกว่า “สหชาติปัญญา” แต่ยังเป็นปัญญาดิบ ที่ยังมิได้รับการพัฒนาขัดเกลา สร้างเสริมให้งอกงามสมบูรณ์ จึงยังไม่ควรเรียกว่า “วิปัสสนาปัญญา”
ผู้ที่จักทำกัมมัฏฐาน จำเป็นต้องมีสติปัญญาเดิม เป็นพื้นฐานพอสมควร แต่ถ้าเป็นคนโง่ คือคนขาดปัญญา หมดปัญญา ไม่มีปัญญา หรือมีก็มีเฉพาะสติปัญญาที่เอาไว้ใช้หากิน หาอยู่ ของอัตภาพตนไปวันๆ และถ้าเผอิญ นึกอยากจะปฏิบัติธรรม หรือมีผู้มาชวนให้ปฏิบัติธรรม ก็ทำได้แต่เพียงตามๆเขาไป หรือถ้าไม่ตาม จักแสวงหาด้วยตนเอง ก็เป็นการแสวงหาและปฏิบัติตามแต่ที่ตนเชื่อ โดยมิได้พิจารณาว่า การกระทำเช่นนี้ การปฏิบัติอย่างนี้ จะทำให้ตนฉลาด สะอาด สว่างขึ้นมาบ้างหรือไม่ หรือทำเพราะอาศัยอำนาจแห่งความพอใจ ถูกใจ ชอบใจเป็นพอแล้ว
ศีลเป็นรากฐานของชีวิต ศีลทำให้เราอยู่ห่างไกลความเลวร้าย ชั่วผิดบาปหยาบช้าทั้งปวง ศีลทำให้เราตั้งมั่น และอาจหาญคงที่ ศีลทำชีวิตให้อยู่ดีมีสุข ท่านจึงเปรียบศีล เป็นดั่งแผ่นดินที่หนักแน่น มั่นคง และพร้อมที่จะก่อเกิด สรรพชีวิต สรรพวัตถุได้มากมาย ทั้งยังสามารถให้สรรพชีวิตทั้งหลาย ได้ยืนหยัดอยู่อาศัย อย่างมิต้องหวาดผวาหรือหวั่นไหว ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน จะต้องชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์สะอาด เหมือนดังบุคคล ชำระแผ่นดินให้หมดจด เหมาะสำหรับที่จะใช้ยืน หรือทำการทั้งปวง
การมีสติอย่างจดจ่อจับจ้อง จริงจัง ตั้งมั่น จนกลายเป็นสมาธิ สองสิ่งนี้ถือได้ว่า มีคุณสมบัติในการขจัดขัดเกลา ชำระล้าง เกาะแกะ สรรพกิเลสทั้งปวง สรรพมลทินทั้งหลายที่แอบแฝงอยู่ในโลกียปัญญา ให้กลายเป็น โลกุตรปัญญาในทันทีทันใด ทำเดี๋ยวนี้ เห็นผลเดี๋ยวนี้ ทำเวลานี้ได้ผลทันที ได้ผลขณะที่ลงมือกระทำ จะดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด ใช้ได้หรือไม่ได้ วิธีนี้เราจะรับรู้ได้ด้วยตนเองในทันที วิธีนี้ดูจะเป็นเครื่องหนุนนำให้ผู้ปฏิบัติ เป็นคนหนักแน่นมั่นคงในความรู้ที่ตนได้รับ จากการกระทำแล้วเห็นผลเช่นนี้ จึงถือว่า เป็นปัญญารู้จริง มิใช่รู้จำ อีกทั้งยังทำให้ตนพิสูจน์ได้ด้วยตนเองว่า ความรู้ที่มีหรือได้รับนี้ เป็นความรู้ที่ทำให้ตนเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของการมีชีวิตหรือไม่ เช่นนี้จึงเป็น ปาริหาริกปัญญา คือปัญญาที่ทำให้ตนแน่ใจว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุดและได้ประโยชน์สูงสุด สำหรับสัตว์ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร……….
ประโยคที่ว่า ถางป่าที่รก ให้เตียนไป หมายถึง สรรพกิเลสทั้งปวง สรรพทุกข์ทั้งปวง สรรพภัยทั้งปวง จะขจัดชำระล้างทำลายลงไปได้ ด้วยอาศัยความเพียรพยายามอย่างยิ่ง และท้ายที่สุด ต้องมี อริยปัญญาอันยิ่ง จึงจะสามารถทำลายสรรพกิเลสทั้งปวง ที่ติดแน่นนอนเนื่องอยู่ในสันดานมาเนิ่นนานยาวไกลลงได้……….
สรุป เมื่อเรามีปัญญาติดตัวมาแต่ปางก่อน ควรที่จักทำให้ปัญญานั้น ตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐาน คือ ศีลอันสมบูรณ์ อย่างไม่หวั่นไหว พร้อมทั้งเพิ่มเติม สะสม ปัญญานอกกาย แม้จะเป็น “โลกียปัญญา”ก็ตาม ถ้าผ่านกรรมวิธีในการตรวจสอบ ชำระล้าง ขัดเกลา พัฒนาอย่างละเอียดถี่ถ้วนสมบูรณ์ด้วย”สติ”และ”สมาธิ”(ลับด้วยหิน) โลกียปัญญานั้น ก็จักกลับกลายเป็น “โลกุตรปัญญา”ในฉับพลัน แต่ทั้งนี้กรรมทุกชนิด กิจทุกอย่าง ต้องกระทำด้วยอิทธิบาททั้ง 4อันได้แก่ ฉันทะ(ความพอใจ) วิริยะ(ความเพียร) จิตตะ(ความเอาใจจดจ่อ) วิมังสา(การใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณา)อันเป็นแม่บทในการกระทำ เป็นหัวใจของความสำเร็จทั้งปวง……….ความรัก ความพอใจ เพียรพยายาม บากบั่น อดทน อดกลั้น ด้วยความจับจ่อ จับจ้อง จริงจัง ตั้งใจ ด้วยการใช้”สติปัญญา”ใคร่ครวญ พินิจ พิจารณ์ อย่างถ่องแท้ และละเอียดถี่ถ้วน จึงจะประสบผลอันควรแก่การปฏิบัติ………
เท่ากับ สิ่งที่มีอยู่ก่อน สิ่งที่สร้างสมขึ้นมาใหม่ การควบคุมภายใต้ข้อกำหนด การปรับปรุงวิธีและหนทางสู่สิ่งที่ดีกว่า
ทุกอย่างต้องมีการพิสูจน์ทราบ ตรวจสอบได้และอยู่บนความจริง เพื่อประโยชน์ตนประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นหรือทำให้เกิดความทุกข์ร้อน วุ่นวาย สรุปสู่้หนทางที่ดีสุดมากประโยชน์อย่างที่สุดไม่เบียดเบียน.....?เข้าใจครับ
( การทดลองทำด้วยตนเอง เพื่อให้แน่ใจว่า สิ่งที่ได้ศึกษาเล่าเรียน รับฟังมานั้น มีผลเป็นประการใด ถึงแม้ว่าจะมีปัญญาที่ได้มาจากการสะสมเพิ่มเติมแล้วก็ตามที แต่ก็ยังแน่ใจวางใจไม่ได้ว่า ปัญญาชนิดนี้จะพาตัวรอด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดเลือก ชำระล้าง ขัดเกลา พัฒนาปัญญาที่ได้ ซึ่งท่านเรียกว่า โลกียปัญญา )
กระบวนการแห่งปัญญา เรียกว่า เป็นผลแห่งการสันดาปของสติ เกิดสมาธิ แล้ว ปรากฏปัญญา ถ้าเข้าใจตามนี้ สิ่งที่ควรจะขวนขวายอันดับแรก จึงไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่สมาธิ แต่มันคือสติ
สติมี 2 ประเภท คือ สัมมาสติ กับ มิจฉาสติ
“สัมมาสติ” คือ สติที่ทำให้เราเข้าใจสิ่งตามเป็นจริง รู้เห็นตามความเป็นจริง เข้าใจสิ่งที่เป็นเรื่องจริงและเป็นความถูกตรง ถูกต้องต่อความเป็นจริง สัมมาสตินี้ไม่ว่าต่อหน้าลับหลังอยู่ได้ นอนหลับเป็นสุขจนวันตาย วันสุดท้ายแห่งความตายก็ยังเป็นสุข เพราะมันเป็นสัมมาสติที่มีอุปการะไปถึงชาติโน้น ชาติไหน ชาติใดๆได้ด้วย
“มิจฉาสติ” คือสติที่ยังให้เกิดโทษ ไม่เกิดประโยชน์ เป็นสติชั้นต่ำ ไม่ใช่สติชั้นสูง สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้ตัวเอง เพราะความชั่วนั้น มันหมักหมมโสโครก กัดกินจนกระทั่ง ต้องติดคุกตะราง หรือรับโทษทัณฑ์ทางใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับและชีวิตไม่เป็นสุข
คนที่มีสัมมาสติ คือคนที่ยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง องอาจ สง่างาม แล้วสัมมาสติที่ถูกตรง ก็คือ สติที่มีเอาไว้กำกับดู กาย เวทนา จิต และธรรม ทั้งภายในและภายนอก
ชีวิตที่เป็นชีวิต คือ ชีวิตที่เป็นเจ้าของชีวิต คือชีวิตที่มีชีวา มีความสดชื่น แจ่มใส มีความกระตือรือล้นกระฉับกระเฉง มีความกระชุ่มกระชวยที่จะทำกิจการงาน และจัดสรรภาระ ธุระ ชีวิตตนและคนอื่น ให้เกิดประโยชน์สูง ประหยัดสุด และมีสาระ นั่นคือ สิ่งที่มีชีวิต
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น